ธปท. คุมเข้มสินเชื่อซื้อหุ้น หวังคุมความเสี่ยงตลาดทุน

30 พ.ค. 2567 | 09:23 น.

ธปท.เตรียมออกประกาศแนวนโยบายการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ โดยเน้นหนักการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ เพื่อควบคุมความเสี่ยงและป้องกันการเก็งกำไรในตลาดทุน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงินต่อร่างแนวนโยบายเรื่องการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจบางประเภท เนื่องจากในอดีตการขยายตัวของสินเชื่อมีการกระจายตัวไปยังธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ต่อการผลิตของประเทศในระยะยาว

วัตถุประสงค์หลักของการปรับปรุงแนวนโยบายครั้งนี้ คือเพื่อให้หลักเกณฑ์สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยยังคงหลักการเดิมที่เน้นให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตในระยะยาว และอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

สาระสำคัญของร่างแนวนโยบายได้แก่การออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่บริษัทมหาชนจำกัดเพื่อนำไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น(treasury stock) รวมถึงการให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อพิจารณาให้สินเชื่อแก่บริษัทมหาชนเพื่อซื้อหุ้นคืน

นอกจากนี้ ร่างแนวนโยบายยังได้ระบุข้อกำหนดสำหรับการให้สินเชื่อโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน เพื่อไม่ให้เป็นการสนับสนุนการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ โดยสถาบันการเงินต้องดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่ดี พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ลูกค้าอย่างชัดเจน

รายละเอียดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่บริษัทมหาชนจำกัดเพื่อนำไปซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น(treasury stock) ธปท.กำหนดให้ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของกระทรวงพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อนุญาตให้บริษัทมหาชนจำกัดซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นได้โดยการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวต้องไม่เป็นเหตุให้บริษัทมหาชนจำกัดนั้นประสบปัญหาทางการเงิน ดังนี้

การให้สินเชื่อโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน

ในการพิจารณาให้สินเชื่อโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน สถาบันการเงินพึงระมัดระวังไม่ให้เป็นการสนับสนุนให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และต้องดูแลให้มีการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่ดีและเหมาะสมตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างชัดเจน โดยให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติดังนี้

1. ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่เป็นประกันหลักทรัพย์ที่เป็นประกัน จะต้องเป็นหลักทรัพย์ที่ลูกค้ามีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระผูกพัน รวมถึงต้องไม่เป็นหลักทรัพย์ที่ได้มาจากธุรกรรมการยืม

2. ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีรับหลักทรัพย์เป็นประกัน

2.1 กรณีหลักทรัพย์ที่เป็นประกันเป็นหลักทรัพย์ที่ฝากไว้ที่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สถาบันการเงินเลือกวิธีการจำนำหลักทรัพย์ดังกล่าว เป็นประกันได้2 วิธี

2.1.1 การจดทะเบียนจำนำใบหลักทรัพย์ ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ลูกค้าจดทะเบียนจำนำใบหลักทรัพย์เป็นประกัน โดยระบุชื่อสถาบันการเงินเป็นผู้รับจำนำและส่งมอบใบหลักทรัพย์นั้นให้แก่สถาบันการเงินดังกล่าวให้เสร็จก่อนวันที่ลูกค้าเริ่มเบิกใช้สินเชื่อ หรือ

2.1.2 การจำนำหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (scripless) ให้สถาบันการเงินดำเนินการตามระเบียบ วิธีปฏิบัติของ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด

2.2 การจำนำหลักทรัพย์ที่มิได้ฝากไว้ที่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สถาบันการเงินใช้วิธีการจดทะเบียนจำนำใบหลักทรัพย์ตาม 2.1.1 เท่านั้น

3. ข้อกำหนดในการให้สินเชื่อที่มีหลักทรัพย์เป็นประกัน

3.1 ให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติตามมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่เหมาะสมและรัดกุม โดยวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ

3.2 สถาบันการเงินต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมดูแลไม่ให้ลูกค้านำเงินให้สินเชื่อไปใช้เพื่อเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์หรือใช้ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น การสร้างราคาหลักทรัพย์

3.3 สถาบันการเงินต้องจัดให้มีระบบงานที่สามารถติดตามราคาของหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นประกันที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับลักษณะและความซับซ้อนของธุรกรรม

3.4 ในกรณีหลักทรัพย์ที่เป็นประกันมีมูลค่าลดลง สถาบันการเงินอาจเรียกให้ลูกค้านำหลักทรัพย์มาจำนำเพิ่มขึ้นตามวิธีที่กำหนดไว้ใน (2) หรือเรียกชำระคืนหนี้คงค้างบางส่วนได้ และหากเรียกชำระคืนหนี้คงค้างบางส่วนแล้ว สถาบันการเงินจะให้สินเชื่อแก่ลูกค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้ แม้ว่าหลักทรัพย์ที่เป็นประกันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นภายหลังก็ตาม

ทั้งนี้ สถาบันการเงินพึงระบุแนวทางการบังคับหลักประกันในสัญญาสินเชื่อให้ชัดเจนและสื่อสารให้ลูกค้าทราบถึงการดำเนินการที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อลูกค้าได้เช่น แนวทางการด าเนินการกรณีมูลค่าหลักทรัพย์ที่เป็นประกันต่ำกว่าระดับที่ลูกค้าได้ตกลงไว้กับสถาบันการเงิน

3.5 ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่เป็นประกันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น หากลูกค้าประสงค์จะขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและสถาบันการเงินตกลงยินยอมด้วย ให้ดำเนินการได้เฉพาะทำเป็นสัญญาฉบับใหม่ต่างหากจากสัญญาฉบับเดิมหรือยกเลิกสัญญาฉบับเดิมและทำเป็นสัญญาฉบับใหม่ทั้งจำนวนเท่านั้น แต่การดำเนินการเช่นนี้ควรกระทำแต่เพียงครั้งคราว โดยต้องมิใช่เป็นการเลี่ยงเพื่อปรับวงเงินสินเชื่อขึ้นลงตามราคาหลักทรัพย์ในทำนองของการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์(margin loan)

3.6 สถาบันการเงินต้องจัดให้มีกระบวนการควบคุมดูแลและสอบทานการให้สินเชื่อโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกันให้เป็นไปตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติของสถาบันการเงินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยหากพบว่าลูกค้านำเงินให้สินเชื่อไปใช้เพื่อเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ หรือนำเงินให้สินเชื่อไปใช้ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ให้ส่งรายงานการตรวจสอบดังกล่าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทันที

อย่างไรก็ตามร่างแนวนโยบาย ธปท.เรื่อง การให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจบางประเภท นี้ธปท. อาจปรับปรุงแก้ไขเพื่อความเหมาะสมต่อไป

ที่มา : การรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวนโยบายการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจบางประเภท