โกลด์แมนแซคส์คาดหมาย แบงก์ชาติจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ย Q2 ปีหน้า

29 พ.ค. 2567 | 12:55 น.

โกลด์แมน แซคส์ คาดหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกราว 0.25% ในไตรมาสสองของปีหน้า (Q2/2025) จากเดิมที่เคยคาดว่าจะปรับลดในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ เนื่องจากธปท.มีแรงกดดันในการหั่นดอกเบี้ยลดน้อยลง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงการคาดหมายของวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเริ่มนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและ ลดดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 จากเดิมที่คาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (2567) โดยเป็นผลมาจากแผนการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลและโครงการดิจิทัลวอลเล็ดเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ความกดดันในการหั่นอัตราดอกเบี้ยของธปท. ลดน้อยลง

นักวิเคราะห์ของดกลด์แมน แซคส์ คาดหมายว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มอัตราเร่งนับตั้งแต่ไตรมาสสองเป็นต้นไป เมื่อภาครัฐใช้จ่ายงบมากขึ้น ตามด้วยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่จะได้รับแรงกระตุ้นจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ คาดหมายว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2568 จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเริ่มมีการลดดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้

รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลไทยวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายรายปีราว 1.22 แสนล้านบาท (3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบประมาณปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ คาดว่าแผนการนี้จะผลักดันการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของ GDP จากเดิมที่คาดว่าจะคาดดุลการคลังที่ระดับ 3.7% ของ GDP

นักลงทุนคาดการณ์ว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยราว 0.12% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ภายหลังจากที่ธปท.ประกาศคงอัตราดอกบี้ยไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ด้านธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ก็ได้ปรับเปลี่ยนคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธปท.เช่นเดียวกัน โดยคาดว่า จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ (ธ.ค.2567) จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเป็นเดือนมิถุนายน

โกลด์แมน แชคส์ ยังคงมองแง่ลบต่อทั้งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธปท.และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เนื่องจากการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการทางการเงินที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่ค่าเงินบาทจะยังคงถูกกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และส่วนต่างการเติบโตของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ข้อมูลอ้างอิง