ประธานเฟด ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ย มิ.ย.นี้ แม้เงินเฟ้อยังไม่ลดตามเป้า

02 พ.ค. 2567 | 04:22 น.

ประธานเฟดย้ำว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้ ไม่มีผลกับการตัดสินใจของเฟดเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย และถึงแม้เงินเฟ้อจะยังไม่ปรับลดสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมายของเฟด แต่เชื่อว่าการประชุม FOMC ในเดือนมิ.ย. นี้ จะยังไม่มีการ "ปรับขึ้น" ดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้จัดแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันพุธ (1 พ.ค.) โดยกล่าวว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้จะออกมาเช่นใด เฟดจะยังคงมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย

"การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินของเรา" นายพาวเวลล์กล่าว และว่าในเรื่องเงินเฟ้อนั้น แถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดบ่งชี้ว่า กรรมการหลายคนต้องการความมั่นใจมากขึ้นว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% โดยยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เฟดจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่ แต่นับจนถึงขณะนี้เฟดก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เงินเฟ้อยังไม่ลดสู่ระดับเป้าหมาย 2%

"นับตั้งแต่ต้นปี 2567 ยังไม่มีข้อมูลที่ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งทำให้เฟดตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงจนกว่าสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าการที่เฟดจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงสู่เป้าหมายนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเราพร้อมที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันตราบที่เราเห็นว่าเหมาะสม"

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

"การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ไม่ได้เป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงินของเรา"

ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ประธานเฟดปฏิเสธความเป็นไปได้ ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 11-12 มิ.ย.นี้

"ผมคิดว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า" นายพาวเวลล์กล่าว และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจัยใดจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เฟดพิจจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นายพาวเวลล์กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องเห็นหลักฐานที่ชัดเจนก่อนว่า นโยบายการเงินของเราไม่มีความเข้มงวดมากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน แต่เราเชื่อว่า เอาจริงๆแล้วเราคงไม่ได้เห็นหลักฐานที่ว่า"

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลล์ได้กล่าวถึงเรื่องงบดุลของเฟด โดยย้ำว่า การชะลอการใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) นั้น ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจหรือลดการคุมเข้มทางการเงิน

"ความจริงแล้วการชะลอมาตรการ QT มีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นใจว่า กระบวนการปรับลดงบดุลบัญชีของเฟดลงสู่ระดับที่เราต้องการนั้น จะเป็นไปอย่างราบรื่น" นายพาวเวลล์กล่าว

ส่วนกรณีที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567 ของสหรัฐอเมริกาขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่ตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่า สหรัฐจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า ภาวะ Stagflation นั้น นายพาวเวลล์ไม่เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว โดยระบุว่า "ผมไม่เข้าใจว่าความคิดนี้มาจากไหน" พร้อมทั้งอธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากมาตรวัดเศรษฐกิจแล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3% ซึ่งสภาวะเช่นนี้ ไม่ได้เรียกว่าภาวะ Stagflation

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายพาวเวลล์มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วรวม 5.25%