"กรณ์" เตือนรัฐบาล ใช้เงินธกส.แจกเงินดิจิทัล ระวังผิดวัตถุประสงค์

12 เม.ย. 2567 | 13:54 น.

"กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง " โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ทางออกใช้งบ 68-69 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยกคำเตือนแบงก์ชาติ ใช้เงินธกส.ระวังผิดวัตถุประสงค์ของธนาคารที่มี 17 ข้อ ย้ำหวังเห็นธกส.มีกำลังเพียงพอ ดูแลเกษตรกรได้ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง

วันที่ 12 เม.ย. 67 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก "กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij" ถึงกรณีที่รัฐบาลจะใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ร่วมเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 

โดยนายกรณ์ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ออกมาตำหนิแผนการกู้จาก ธกส.เพื่อมา #แจกเงินดิจิทัล บอกว่าซํ้ารอย ‘จำนำข้าว’ ในการสร้างหนี้สะสมมหาศาล จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ชำระคืนให้ ธกส. ส่วนพรรคเพื่อไทย สวนกลับทันทีว่า ก็ทีพวกคุณแจกเงินโครงการประกันรายได้ คุณก็ใช้เงิน ธกส. วันนี้ใช้เงินคืนหรือยัง?? อันนี้ถูกทั้งคู่!

"แต่ผมว่าไม่ตรงประเด็น เพราะจะผิดจะถูกอย่างไร ทั้งจำนำข้าว และประกันรายได้ ล้วนเป็นเรื่องโครงการที่ตรงกับภารกิจตามกฎหมายของ ธกส.(ถึงแม้จะมีปัญหาอื่นตามมา)"

อดีตรมว. คลัง ระบุด้วยว่า ตาม พรบ.ธกส. นั้น ในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของ ธกส. ไว้ถึง 17 ข้อ ทั้ง จำนำและประกันรายได้ เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ข้อที่ 1  

 

คือ ‘การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร..สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม’ และนี่น่าจะเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยที่ก็ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก 16 ข้อ ว่า ธกส. ทำอะไรได้บ้าง โดยที่ทุกข้อโยงกับการส่งเสริมเกษตรกรในบริบทการทำอาชีพเกษตรกรรม 

"ที่อ่านแล้วยังไม่ชัดว่ามีข้อไหนเปิดให้ ธกส. ปล่อยกู้ให้รัฐบาลนำมาแจกประชาชนได้ (แม้บางคนมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม) เพราะวัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดว่า ’เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ และ ‘เพื่อการบริโภค’ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ ‘ส่งเสริมการเกษตร’" นายกรณ์ระบุ

อดีตรมว.คลัง โพสต์ต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยคิดว่า รัฐบาลอาจใช้ ธกส.เพื่อการนี้ได้ แต่ว่า ตั้งแต่ปี 2561 มี พรบ.วินัยทางการคลัง ยํ้าประเด็นชัดเจนในมาตรา 28 ว่า รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ได้ 

"ทำให้ผมกลับไปอ่านกฎหมายจัดตั้ง ธกส.อีกรอบ และผมว่าเรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประเด็นนี้ตรงกับที่แบงก์ชาติได้ออกมาเตือน (ผมได้อ่านกฎหมายของธนาคารออมสินด้วย หากจะไปทางนั้นก็ต้องออกพันธบัตร ซึ่งต้องมี พรก. หรือ พรบ.กู้เงินรองรับ..ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีก)"

ในตอนท้าย นายกรณ์ ชี้ให้เห็นถึงช่องทางในการเดินหน้าโครงการว่า ในเมื่อรัฐบาลตั้งใจเดินหน้าโครงการนี้ ทางออกหนึ่งคือรัฐบาลตัดค่าใช่จ่ายอื่นๆ ในงบปี 2568 เพื่อเจียดมาแจกเงินดิจิทัล หรือรอแจกงวดที่สอง ด้วยการใช้งบปี 2569

"ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผมในฐานะอดีตประธาน ธกส.ผู้ที่รัก ผูกพัน และอยากเห็น ธกส. มีกำลังเพียงพอในการทำหน้าที่ดูแลเกษตรกรได้ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง"นายกรณ์ ระบุทิ้งท้าย