คลังเตรียมพร้อมรับงบปี67 เม.ย.นี้ เน้นเบิกจ่ายโครงการปีเดียว

09 เม.ย. 2567 | 09:01 น.

ปลัดคลังชี้งบประมาณปี 67 คลอดเม.ย.นี้ หนุนเศรษฐกิจคึกคัก ฝั่ง “กรมบัญชีกลาง” ชงครม.เคาะแนวปฏิบัติ ขีดเส้นให้โครงการปีเดียว ลงนามสัญญา ภายในมิ.ย.นี้ ดันเร่งเบิกจ่าย ล่าสุดเบิกจ่ายงบพลางก่อนแล้ว 1.35 ล้านล้านบาท

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ชะลอตัวลงคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ทำให้หลายหน่วยงานเศรษฐกิจได้ปรับลดประมาณการการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยลง โดยจะเห็น การใช้จ่ายภาครัฐ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ ติดลบ 10.8% โดยเฉพาะงบลงทุนที่ติดลบถึง 58.2% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้เพียง 40.8% เท่านั้นเหตุเพราะงบประมาณประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จากนั้นสภาฯ จะจัดส่งร่างพ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) หากไม่มีผู้ยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตีความ ครม.จะนำร่างพ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะมีผลบังคับใช้ คาดว่า จะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีวงเงินใหม่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงการคลังจะผลักดันให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ดำเนินมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายไปหลายมาตรการและยังได้มีการสื่อสารไปยังหน่วยงานรับงบประมาณ ถึงขั้นตอนการดำเนินการที่สามารถทำได้ระหว่างรอให้งบประมาณมีผลบังคับใช้ เพื่อให้สามารถเซ็นสัญญาและดำเนินการเบิกจ่ายได้ทันที เมื่องบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้

“กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ระหว่างรองบประมาณปี 67 กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการไว้รองรับ เพื่อเตรียมการ หากงบประมาณมีผลบังคับใช้ ก็เบิกจ่ายได้ ไม่ใช่ว่าเงินมาแล้วเพิ่งเริ่มต้นตั้งเรื่องโครงการ จัดทำทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้เตรียมไว้หมดแล้ว” นายลวรณกล่าว 

ด้านนางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า หลังจากได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ที่ผ่านมา และกรมได้เสนอผลการประชุมให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบในวันที่ 26 มี.ค. จากนั้นจะส่งหนังสือเวียนให้ส่วนราชการปฏิบัติต่อไป 

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

ทั้งนี้กรมบัญชีกลางเสนอให้หน่วยงานเร่งรัดการลงนามการก่อหนี้ในโครงการที่มีระยะเวลา 1 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 67 ส่วนโครงการผูกพันใหม่ที่รับงบประมาณมากกว่า 1 ปีนั้น กำหนดทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 67 ซึ่งในปีงบประมาณ 67 นี้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่เป็นโครงการปีเดียว เนื่องจากเหลือระยะเวลาใช้จ่ายงบเพียง 5 เดือนเท่านั้น

“รายละเอียดจำนวนโครงการต่างๆ จะอยู่ในงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณเป็นผู้อนุมัติ โดยโครงการปีเดียวที่เราระบุให้เซ็นสัญญาในเดือนมิถุนายน เนื่องจากโครงการปีเดียวไม่ต้องผ่านความเห็นชอบความเหมาะสมราคาที่สำนักงบประมาณ จะสามารถลงนามสัญญาได้เลย ส่วนโครงการผูกพันจะต้องมีการนำผลการจัดซื้อจัดจ้างไปเสนอสำนักงบประมาณ เมื่อสำนักงบประมาณเห็นชอบผลแล้ว จึงจะสามารถไปลงนามสัญญาได้”นางสาวทิวาพร กล่าว

ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางยังได้เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปีงบ 67 โดยได้มีการส่งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการ ตั้งแต่วาระกรรมมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ในเรื่องภายใน อาทิ การจัดทำคุณสมบัติของสินค้าที่ส่วนราชการจะจัดหา เตรียมการเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะจัดจ้าง และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปจนถึงได้คู่สัญญา แต่ยังไม่ลงนาม อีกทั้ง กรมบัญชีกลางยังได้ผ่อนคลายวิธีการประกาศการจัดซื้อจัดจ้างด้วย

ขณะที่นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณว่า การเบิกจ่ายในช่วง 1 ตุลาคม 2566- 8 มีนาคม 2567 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.35 ล้านล้านบาท แม้พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ตามวิธีการงบประมาณของสำนักงานประมาณ กำหนดให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง

สำหรับการใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อนนั้น วงเงินจัดสรรอยู่ที่ 1.83 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ 1.68 ล้านล้านบาท และรายจ่ายลงทุน1.55 แสนล้านบาท โดยการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.26 ล้านล้านบาท คิดเป็น 75.48 % ของวงเงินที่ได้รับจัดสรรในส่วนของงบรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเบิกได้ 8.19 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 52.68 % ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในส่วนของงบลงทุน

“การเบิกจ่ายงบประมาณ จะเบิกจ่ายตามความสำเร็จของโครงการ ซึ่งแบ่งการเบิกจ่ายเป็นงวดๆ หากพิจารณาเฉพาะงบลงทุนแล้ว พบว่า สัดส่วนการเบิกจ่ายต่อวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 52.68 % สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 66 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 32.57%” นางแพตริเซีย กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,981 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2567