หนี้ครัวเรือนโตแซงจีดีพี NCB ชี้กดต่ำกว่า 80%ยาก

16 ก.พ. 2567 | 10:00 น.

เครดิตบูโรเผย หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 4 ปี 66 โต 3.3% แซงหน้าจีดีพีที่คาดว่าจะโต 2.5-2.6% ชี้กดให้ต่ำกว่า 80% ตามแผนธปท. 3 ปียากห่วงหนี้เสียรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดพุ่ง 44% จี้ธปท.ผ่อนเกณฑ์ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม  

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2566 บนฐานข้อมูลของเครดิตบูโร รวมทั้งสิ้น 13.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) วิ่งอยู่แค่ 1.8-2% ซึ่งเครดิตบูโรคาดว่า จีดีพีสิ้นปีที่แล้ว คงจะเติบโตได้ไม่เกิน 2.5-2.6%

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจจริงของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะบ่งชี้การเติบโตของจีดีพีปี 2566 และทิศทางเศรษฐกิบปี 2567 

 

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ 90% ต่อจีดีพี ถือเป็นระดับอันตราย เนื่องจากระดับมาตรฐานสากลหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ไม่เกิน 80% ของ จีดีพี และจากความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการจะเห็นหนี้ครัวเรือนปรับลดลงมาอยู่ในระดับสากลที่ 80% ต่อจีดีพีนั้น มองว่า คงจะยาก เพราะหากจีดีพียังเติบโตในระดับนี้แล้ว มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเห็นหนี้ครัวเรือนปรับลดลงมาที่ระดับ 80% ต่อจีดีพีในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือราวต้นปี 2570

สำหรับตัวเลขหนี้ครัวเรือน 13.7 ล้านล้านบาทนั้น ในจำนวนนี้ประมาณ 1.04 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็น 2.6 แสนล้านบาท รองลงมาคือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท 

ขณะที่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ หรือ Special Mention (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ในปี 2566 อยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 17.8%YoY โดยจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้รถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท รองลงมาคือหนี้ที่อยู่อาศัยที่ 1.78 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนหนี้เสีย 1.04 ล้านล้านบาทนั้นประมาณ 3.72 แสนล้านบาทเป็นหนี้เสียจากผลกระทบโควิด-19 (ลูกหนี้รหัส 21) เพิ่มขึ้น 11.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 3.35 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.7% ของหนี้เอ็นพีแอล โดยหนี้เสียกลุ่มที่เพิ่มขึ้นมาคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น 43.7% มียอดคงค้าง 4.48 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นสินเชื่ออื่นๆ เพิ่มขึ้น 40.9% มียอดคงค้างทั้งสิ้น 9.54 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อบ้าน เพิ่มขึ้น 28.4% มียอดคงค้าง 5.88 หมื่นล้านบาท 

หนี้ครัวเรือนโตแซงจีดีพี NCB ชี้กดต่ำกว่า 80%ยาก

“หนี้เสียในสินเชื่อรถยนต์เร่งตัวขึ้นเร็วมาก และนำไปสู่การยึดรถ การนำรถไปคืน และการนำรถเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น โดยภาวะเช่นนี้ยัง ทำให้ราคารถมือสองตกลง ทำให้แบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ขาดทุนยามนำรถไปขาย (Loss on Sale) ท่ามกลางการดิสรัปต์ของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทำให้ราคารถยนต์สันดาปร่วงลงไปอยู่แล้ว ขณะที่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่อรถยนต์ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก” นายสุรพล กล่าว 

ดังนั้นหากสามารถปรับลดมูลหนี้รหัส 21 ออกไป ซึ่งจะทำให้มูลหนี้เสียนี้กลับสู่ปกติในระดับ 5 แสนล้านบาทหรือไม่เกิน 6 แสนล้านบาท แต่ส่วนตัวมองว่า ยากในทางปฎิบัติ เพราะในส่วนของลูกหนี้ของฝั่งธนาคารพาณิชย์จะเจอเงื่อนไข กรณีจะปรับโครงสร้างหนี้ได้ ลูกหนี้จะต้องมีศักยภาพคือ ต้องเป็นรายที่มีรายได้มั่นคง เพียงพอ แน่นอน สม่ำเสมอซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มมีศักยภาพจึงมีน้อย

ดังนั้นแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รหัส 21 ที่อยู่กับฝั่งธนาคารพาณิชย์อีก 2 ล้านราย ต้องการมาตรการจากธปท.ที่ยืดหยุ่นกว่าปัจจุบัน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของธปท.ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพิ่มเติมหรือขอความร่วมมือเฉพาะรายที่มีศักยภาพ แต่รายที่ไม่มีศักยภาพ แนวโน้มก็จะไหลไปเรื่อยๆเป็นเอ็นพีแอล ถูกยื่นเตือนและเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี ซึ่งจะวนกันอยู่ต่อไป

ส่วนหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ใช้กับลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับและธนาคาร ออมสิน คือ ให้ความสำคัญกับการมีรายได้ มีอาชีพ มีแหล่งทำกิน ให้ความสำคัญกับการมีอาชีพกินกัน หรือมีแผงค้าขาย และยังมีรายได้มีงานทำ โดยไม่ได้พูดถึงรายได้มั่นคง เพียงพอ แน่นอนสม่ำเสมอ

นอกจากนั้น กลุ่มนี้จะได้รับความคุ้มครองจากมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เบิกงบประมาณมาชดใช้ความเสียหายแล้ว ปิดบัญชีราวในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งลูกหนี้ในกลุ่มนี้จะหายไปประมาณ 1 ล้านราย มูลหนี้ต่อรายลดลงเหลือ 2,000-3,000 บาท 

นอกจากนี้ลูกหนี้รหัส 21ที่เหลือยังเกาะอยู่ในกลุ่ม “สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน” ซึ่งมีปัญหาภาระหนี้ต่อรายได้สูง อีกประเด็นคือหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (RL) กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อตามศักยภาพคือ มีรายได้มั่นคง เพียงพอ แน่นอน สม่ำเสมอและเก็บหลักฐานไว้เพื่อรอการตรวจสอบโดยธปท.

ในทางปฎิบัติตอนนี้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพดังกล่าว ซึ่งมีอยู่น้อย ซึ่งเข้าใจเจตนาของธปท.ที่ไม่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม และสถาบันการเงินก็ไม่กล้าปล่อยกู้ใหม่ เพราะกติกาหากปล่อยกู้ไปแล้วธปท.ตรวจพบหลักฐานอาจจะสั่งให้ตั้งสำรองอีก 

ทั้งนี้ อาการที่สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ และหาคนมากู้ยากนั้น เห็นได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และอาการนี้ซึมมาถึงเดือนมกราคมปีนี้ มีการยื่นคำขอสินเชื่อเหลือไม่เกิน 3 ล้านใบสมัครต่อเดือน จากปกติจะมีประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน

“ในบรรยากาศที่ขอสินเชื่อใหม่ก็ยาก ปรับโครงสร้างหนี้ก็ยาก เพราะกติกา ทางสถาบันการเงินต้องค้นหาลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ขณะเดียวกันยังหนี้เสียของตัวเองที่จะต้องแก้ไข หากจะปล่อยกู้สินเชื่อใหม่ก็อาจถูกบังคับให้ปรับโครงสร้างหนี้ หรือกันสำรองเพิ่มซึ่งกติกาไม่เอื้อให้ปล่อยสินเชื่อได้ง่าย” นายสุรพลกล่าว 

สำหรับทิศทางสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 ยังไม่น่าต่ำกว่า 90% ต่อจีดีพี แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นได้หากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เอื้ออำนวย โดยหากเกิดการลดดอกเบี้ยในปลายปี นักท่องเที่ยวกลับมา ไม่มีสงครามเพิ่มขึ้น ราคาพลังงานพอไปได้ จีนไม่ทุ่มสต็อกออกมาขาย ไทยพอส่งออกไปได้ คนมีโบนัสในปี 2567 เอามาโปะหนี้ได้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอาจจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มาก ทั้งจากภาคการผลิตที่เป็นแหล่งจ้างงานรายใหญ่ของไทย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานที่จะส่งผลต่อค่าครองชีพ แต่ยังเชื่อว่า หากการเติบโตของจีดีพีสูงกว่าการเติบโตของหนี้ต่อเนื่องโอกาสที่เห็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไปถึง 80% ก็ง่ายขึ้น

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาลงจากการส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายสุรพลกล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการช่วยลดภาระของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยดีขึ้น เนื่องจากการลดดอกเบี้ยทำให้ยอดผ่อนลดลง และภาระหนี้ของลูกหนี้ก็เบาขึ้น แต่การลดดอกเบี้ยไม่น่าจะทำให้การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินง่ายขึ้น จากเกณฑ์ธปท.

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,967 วันที่ 18 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567