คัมภีร์ลงทุนปี 67 ฝ่าทิศทางดอกเบี้ยขาลง

31 ธ.ค. 2566 | 07:17 น.

เปิดแผนลงทุนปี 67 ท่ามกลางดอกเบี้ยขาลง กรุงไทยชี้ หุ้นกู้ยังลงทุนได้ แต่ต้องเลือกรายตัวในกลุ่ม High Yield กับ None Rate ชี้เงินต่างชาติมีโอกาสตลาดเงินใหม่ที่เงินจะไหลเข้า ด้านซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี มองโอกาสหุ้นโลกขึ้นต่อไม่ง่าย หลังจากขึ้นไปมากแล้วปีนี้

เป็นที่รับรู้กันทั้งตลาดเงินและตลาดทุนว่า ปลายปี 2566 จบรอบดอกเบี้ย “ขาขึ้น” จากตลาดคาดการณ์ดอกเบี้ยจะกลับทิศในปี 2567 นำโดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด)ส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะกดดันให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่อาจต้องพิจารณาเดินทางเฟด ท่ามกลางความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

สำหรับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ในรอบปี 2566 ถึงวันที่ 22 ธันวาคมพบว่า ดัชนีแนสแด็กให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ 41% รองลงมาเป็นการลงทุนในกองรีทยุโรป (EU REITs) 25% ตามด้วยดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น(Topix) 24% ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทน 22% และ ดัชนีตลาดหุ้นโลก (World) 18%

ผลตอบแทนของการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกปี 2566

จึงเป็นโจทย์สำคัญในการจัดพอร์ตลงทุนฝ่าดอกเบี้ย “ขาลง” อัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม “ฐานเศรษฐกิจ” สะท้อนมุมมองโอกาส ความเสี่ยงและประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยว่า ปี 2567 ตราสารหนี้ยังติดเทรนด์น่าลงทุนได้ เนื่องจากผ่านตลาดหมีมาเกือบ 2 ปีและมีทิศทางดีทั่วโลกตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีนี้ และโมเมนตัมดังกล่าวจะไปต่อได้ แม้จะมีความผันผวน แต่น่าจะผันผวนน้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา

คัมภีร์ลงทุนปี 67 ฝ่าทิศทางดอกเบี้ยขาลง

สำหรับหุ้นกู้ในประเทศ Investment Grade ก็ยังสามารถลงทุนได้ ส่วน High Yield กับ None Rate ยังจำเป็นต้องวิเคราะห์รายละเอียดอย่างรอบคอบในรายบริษัท รวมถึงดูเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทด้วย ซึ่งบริษัทที่มีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนได้ก็ยังประกอบธุรกิจได้และให้ผลตอบแทนที่ดี

ขณะที่สินทรัพย์ประเภทกองรีทยังต้องเลือกเป็นรายๆ แม้ปัจจัยลบน้อยลงตามดอกเบี้ยขาลง แต่กองรีทมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะกองรีทประเภท Datacenter (อาคารหรือห้องที่เป็นพื้นที่ใช้สำหรับระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและเครือข่าย และส่วนประกอบอื่นๆ เช่นการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบจัดเก็บข้อมูล และบริการฝากวางเซิร์ฟเวอร์) หรือคลังสินค้า(Ware house) ยกเว้น อาคารสำนักงานหรือ Office ที่สร้างเสร็จใหม่นั้นภาพรวมอาจจะยังมีประเด็นเรื่องซัพพลาย ซึ่งไม่น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ

ดังนั้นปีหน้าโอกาสที่จะเห็นเงินทุนไหลออกมาหาผลประโยชน์ในตลาดเกิดใหม่ อาจจะมีมากขึ้น ประกอบกับทิศทางค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเซียน่าจะแข็งค่า ขณะที่ไทยเองยังพอคาดหวังกับจำนวนนักท่องเที่ยว 32-35 ล้านคน อีกทั้งงบประมาณภาครัฐปีหน้าจะกลับมามีบทบาทมากขึ้นจากปีนี้ที่ล้าช้า

“ข้อสังเกตุคือ หุ้นไทยหลังโควิด-19 ไม่เคยติดลบ 2 ปีซ้อน ซึ่งภาพการติดลบไปมากแล้วนั้นสะท้อนว่า ปีหน้าหุ้นไทยน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวไม่ควรจะติดลบ และภาพรวมหุ้นไทยปีหน้านักลงทุนน่าจะขายสุทธิน้อยลง ปีหน้ามองปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบ”นายสงวน กล่าว 

สำหรับอัตราผลตอบแทนในรอบปี 2566 (ณ 22ธ.ค.) พบว่า พันธบัตรรัฐบาลผลตอบแทน 2.6% หุ้นกู้ (Investment Grade) 2.9% ทองคำประมาณ 12%(Dolar term) หุ้น(NASDAQ) 43% หุ้นเอเซีย ญี่ปุ่น 27% หุ้นไต้หวัน 24% อินเดีย 18% เกาหลีใต้16% เวียดนาม 10% อินโดนีเซีย 6% แย่สุดดัชนี Hang Seng ติดลบ 17% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยติดลบ 16% และจีนติดลบ 14%

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำแต่ละประเภทสินทรัพย์ว่า ปีนี้หุ้นโลกปรับตัวขึ้นมากแล้ว ดังนั้นปีหน้า หุ้นโลกน่าจะเป็นปีถอน เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมากโอกาสที่หุ้นโลกจะขึ้นต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)

ดังนั้น “หุ้นโลก” น่าจะเป็นลักษณะการเลือกซื้อ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐ ,ยุโรป และเอเซีย (ญี่ปุน และเกาหลีใต้) ซึ่งขณะนี้้ทุกคนพุ่งเป้าไปที่ญี่ปุ่น เพราะนโยบายการเงินจะกลับมาเข้มงวด ตลาดมีโอกาสลุ้นทำกำไรจากเงินเยนแข็งค่าประมาณ 7-8% และจากหุ้นเกือบ 10%จากการเติบโตของกำไร

ด้านฝั่งตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่กำลังสู้กันอยู่ 3 ประเทศคือ อินเดีย จีน ไทย ซึ่งอินเดียตกเป็นเป้าสายตาระหว่างที่จีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ด้วยจำนวนประชากรและโครงสร้างตลาดหุ้นเริ่มเปลี่ยนเป็นกึ่งเทคโนโลยี่ผสมธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากหุ้นอินเดียวประมาณ 10% ซึ่งคล้ายกับหุ้นญี่ปุ่น

ส่วน “หุ้นจีน” ส่วนตัวมองว่า อาจจะใช้เวลาในการแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นกลับมาในปีหน้า โดยต้องระมัดระวังการลงทุน และอาจจะเน้นลงหุ้นจีนที่ขายสินค้าให้ผู้บริโภคต่างประเทศหรือหุ้นเทคโลก โดยผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 5-10%

สำหรับ “หุ้นไทย” มีโอกาสอัพไซซ์ในแง่ของระดับราคา โดยขึ้นอยู่กับรายได้ของบริษัทจดทะเบียน 3 กลุ่ม (กลุ่มพลังงาน กลุ่มการเงินและกลุ่มบริการ)จะฟื้นกลับมา หรือไม่ โดยเฉพาะ “พันธบัตร-ตราสารหนี้” หรือบอนด์และหุ้นกู้ ปีหน้ามีโอกาสมากกว่าความเสี่ยง

ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่ลดดอกเบี้ย โดยให้น้ำหนักลงทุนบอนด์ต่างประเทศ 15% แต่ไม่แนะนำบอนด์ไทย ส่วนหนึ่งเพราะภาพเศรษฐกิจไม่ชัด ยีลด์ต่างประเทศดีกว่า อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลลงมาเร็วมากและอาจจะเพิ่มซัพพลายของบอนด์จากนโยบายภาครัฐ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 34 บาทต่อดอลลาร์ค่อยกลับมาถือบอนด์ไทยในสัดส่วนไม่ถึง 5%

“จุดอ่อนของบอนด์ไทยนั้น ไม่ใช่ประเด็นการผิดนัดชำระหรือ Default แต่อยู่ที่ราคาและผลตอบแทนไม่จูงใจเท่าต่างประเทศ ส่วนหุ้นกู้เอกชนที่ยังมีความเสี่ยง Default นั้น เป็นความเสี่ยงเฉพาะบริษัทที่พื้นฐานไม่ดี ไม่เป็นความเสี่ยงในวงกว้าง ซึ่งผู้ลงทุนต้องดูเป็นรายบริษัท” ดร.จิติพล กล่าว

 ส่วน“สินทรัพย์ทางเลือก” แนะนำดูความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินเทรัพย์ สำหรับหุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ Structured note ที่ปรับความเสี่ยงให้เหมาะกับนักลงทุน เพราะปีหน้าเศรษฐกิจไม่ดีมาก สภาพคล่องไม่ได้ปรับตัวสูง ไม่จำเป็นลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ยกเว้นเลือกลงกองทุนทุนอสังหากับกองทุนทองคำ ซึ่งประเด็นกองทุนอสังหาฯ อยู่ที่ธรรมาภิบาลและการจ่ายปันผล บางรายไม่จ่ายปันผล จำเป็นต้องเลือกให้ดี เพราะมีความผันผวนสูง ส่วนผลตอบแทนเฉลี่ย 5-7%ต่อปี

“4 ประเภทสินทรัพย์ที่น่าสนใจ คือ บอนด์ ทองคำ กองทุนทองคำ-อสังและหุ้น ส่วนผลตอบแทนดีสุด คือ หุ้นตลาดเกิดใหม่เอเซีย 15-20% แนะถือเงินสดปีหน้า 5-10% เพื่อรอจังหวะหุ้นปรับฐานทั้งหุ้นไทยและหุ้นสหรัฐ”ดร.จิติพลกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,952 วันที่ 28 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566