เลื่อนแจกเงินดิจิทัล ช้าสุดไตรมาสแรกปี67

20 ต.ค. 2566 | 11:17 น.

คลังส่อเลื่อนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ออกไปภายในไตรมาสแรกของปี 67 ชี้ต้องทดสอบระบบแอป ป้องกันความปลอดภัย พร้อมปรับนโยบายให้เหมาะสมที่สุด พร้อมล้มเงื่อนไขใช้จ่าย 4 ก.ม. ยันไม่ซ้ำรอยจำนำข้าว  

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล10000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มีกำหนดประชุมสรุปเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดในวันที่ 19 ตุลาคม เพื่อนำเสนอข้อสรุปดังกล่าวไปรายงานในคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในวันที่ 24 ตุลาคมนี้

ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังออกมาระบุว่า  ได้มีการเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัล10000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ออกไปเป็นวันที่ 24 ตุลาคม เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงความเห็นว่า ยังมีรายละเอียดที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“ยอมรับว่า มีความกังวลว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะไม่สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้ทันเวลาและอย่างช้าที่สุดจะพยายามให้ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567” นายจุลพันธ์กล่าว
ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเลื่อนการใช้จ่ายออกไป ก็ต้องทำ แต่เชื่อว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ติดใจ หากมีเหตุจำเป็นที่เหมาะสม เช่น แอปพลิเคชันมีความจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาและความมั่นคงของระบบ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการแลกกับเวลาได้เลย โดยแอปพลิเคชันลักษณะนี้ สิ่งที่สำคัญคือการทดสอบระบบ เพื่อป้องกันการโจมตี และความปลอดภัย ซึ่งหากมีการทดลองอย่างแม่นยำ ก็อาจจะพยายามเริ่มใช้ให้ได้ในไตรมาสแรกของปี 2567

ทั้งนี้ โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ตยังมีเงื่อนไขดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน ซึ่งยังต้องดูรายละเอียดกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการถูกต้อง ทั้งในด้านพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง โดยเราจะมีตัวเลือกรายละเอียดที่มาของแหล่งเงินให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา ซึ่งตัวเลือกเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์สูงสุด และไม่มีผลต่อสภาพของตลาด ส่วนจะเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ได้เมื่อไหร่นั้น ก็ต้องรอผลการประชุมจากคณะอนุกรรมการฯก่อน

นอกจากนี้ โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีเงื่อนไขเรื่องการกำหนดกรอบผู้เข้าร่วมโครงการ โดยมีอยู่ประมาณ 54.8 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่อยากดูแลประชาชนถ้วนหน้า ไม่ต้องการให้เป็นนโยบายสงเคราะห์ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายคัดค้าน หรือมองว่า ควรเน้นช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่เดือดร้อน แต่เรามองว่าแม้ แต่คนชั้นกลางก็ลำบากมานาน ไม่เฉพาะคนเปราะบาง ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้จะสามารถไปต่อยอดอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม เรารับฟังทุกข้อเสนอและจะต้องนำข้อเสนอเหล่านี้มาหารือร่วมกันในชั้นอนุกรรมการฯ อีกครั้ง เพื่อปรับให้เหมาะสม ยืนยันว่า จะทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่นโยบายสงเคราะห์

“ยอมรับว่าอาจจะขัดกับนโยบายที่หาเสียงไว้ว่า จะจ่ายเงินให้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ขณะนี้เป็นรัฐบาลผสม นโยบายบางข้อก็ต้องมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งจะต้องมีจุดร่วมที่มีความเหมาะสม และเบื้องต้นมองว่า เป็นเรื่องปกติที่จะมีการออกมาคัดค้าน เพราะนโยบายตั้งแต่ในอดีต เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน ก็มีคนสงสัย แต่ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จ” นายจุลพันธ์กล่าว 

ขณะที่เงื่อนไขการใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรนั้น ได้มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้ตัวเลือกใด ระหว่างการใช้จ่ายในเขตตำบล อำเภอและจังหวัด ส่วนการจัดทำระบบโครงการเติมเงินดิจิทัลนั้น ยืนยันว่า ยังเป็นสมาคมธนาคารในกำกับของรัฐ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันแล้ว ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการจัดทำระบบไม่ได้ใช้งบ 1.2 หมื่นล้านบาท ตามที่ปรากฏในข่าว

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า ในการรับสิทธิโครงการเติมเงินดิจิทัล แม้จะเป็นการจ่ายเงินถ้วนหน้า แต่ประชาชนยังต้องลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐที่ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่ ท่านสามารถเริ่มต้นใช้จ่ายผ่านโครงการได้เลย แต่ผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐเลยและผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์จะต้องยืนยันตัวตนอีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาในการเปิดยืนยันตัวตน และลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการของร้านค้าจะดำเนินการก่อนที่จะเปิดให้ประชาชนเริ่มใช้จ่ายได้

ทั้งนี้คาดว่า การเดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัล จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้
ใกล้เคียง 5% ในปี 2567 จากเดิมหากไม่มีโครงการดังกล่าว เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ประมาณ 2.8% และยืนยันว่า ไม่ได้มีความกังวลว่า โครงการเติมเงินดิจิทัล จะซ้ำรอยกับโครงการจำนำข้าว เนื่องจากการดำเนินการในครั้งนี้ มีการดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ รัดกุม ที่สำคัญคือปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมีกลไกในการติดตามและมีระบบตรวจสอบ กรณีการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วย ผ่านคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการจัดทำแอปพลิเคชันนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สมาคมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหรือ SFIs ไปประสานขอความร่วมมือกับธนาคาร กรุงไทยให้ดำเนินการในเรื่องแอปพลิเคชันที่จะมาใช้รองรับการจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า หากไม่ดำเนินการภายใต้แอปพลิเคชั่น เป๋าตังแล้ว จะสามารถสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่ได้ทันตามกำหนดเวลาที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่ 

“เรื่องแอปพลิเคชันที่กระทรวงการคลังมอบไปทางกรุงไทยนั้น ยังต้องรอข้อสรุปจากกรุงไทยว่าอย่างไร จะดำเนินการตามแอปเป๋าตัง ที่มีข้อมูลพร้อมสามารถดำเนินการได้เลย หรือต้องทำแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่ แล้วถ้าทำใหม่จะทันหรือไม่ หรือหากทันจะมีเสถียรภาพแค่ไหน เดิมจะสรุปกันวันที่ 19 ตุลาคมนี้”