วาระเร่งด่วน ป.ป.ช.ผนึกนักวิชาการจับตาเงินดิจิทัล หวั่นทุจริตเชิงนโยบาย

20 ต.ค. 2566 | 04:46 น.

ป.ป.ช.ถือเป็น“วาระเร่งด่วน”จับตาแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หวังลดความเสี่ยงต่อการทุจริต คำนึงถึงประโยชน์ประชาชน จ่อเชิญนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการคลัง ร่วมศึกษา

วันนี้ (20 ต.ค. 66) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกเอกสารชี้แจงภายหลัง นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อประเด็นข้อซักถามในที่ประชุมประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. เชิงรุกในการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ที่สำคัญคือ นโยบายเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชน 

โดย นางสุวณา ชี้แจงว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษาและรวบรวมรายละเอียดข้อมูล โดยได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. 2566 เกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต และนำไปวิเคราะห์ตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย 

และจะขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว นำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจมีการเชิญนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงินการคลัง มาเข้าร่วมศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วน 

                         วาระเร่งด่วน ป.ป.ช.ผนึกนักวิชาการจับตาเงินดิจิทัล หวั่นทุจริตเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ การตรวจสอบนโยบายสาธารณะของรัฐบาลดังกล่าวนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้กรอบของกฎหมายเหมือนรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา 

และแม้ว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จะยังไม่มีการแถลงให้เห็นภาพที่ชัดเจนออกมา แต่ด้วยความห่วงใยจากสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เกี่ยวกับประเด็นการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว

ทางคณะกรรม ป.ป.ช. ถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก