“บิ๊กตู่” รัฐบาลรักษาการกุมขมับ ถก “คลัง” หาช่องลดภาษีน้ำมัน

22 มิ.ย. 2566 | 02:37 น.

“อาคม” นำทีมผู้บริการระดับสูงก.คลัง ถก “บิ๊กตู่” รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจ-ผลจัดเก็บรายได้ หาช่องลดมาตรการภาษีน้ำมันดีเซล หลังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ด้าน “สรรพสามิต” ศึกษาลดภาษี 2-5 บาท “สรรพากร” คาดรีดภาษีปีงบ 66 ทะลุเป้าสูงสุด 2 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566  นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม และการรายจัดเก็บรายได้ของรัฐด้วย

โดยนายอาคม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไปรายงานสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ  ไม่มีประเด็นอะไรพิเศษ  ถือเป็นการไปอัพเดตสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเท่านั้น 

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า นายกฯ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรายงานเรื่องสถานการณ์รายได้ และรายจ่ายงบประมาณ ว่ามีการคาดการณ์อย่างไร เงินคงคลังเกินดุล หรือไม่เกินดุล 

โดยในส่วนของกรมสรรพากรนั้น ก็มีการคาดการณ์การจัดเก็บรายได้ของกรมว่า ปีงบประมาณ 2566 นี้ จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท และกรมก็ไม่ได้ประมาทมีการติดตาม และดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ส่วนกรณีหากรัฐบาลมีการต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซล รายได้ของสรรพากรจะช่วยเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไปหรือไม่นายลวรณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะมีการต่ออายุมาตรการภาษีน้ำมันดีเซลหรือไม่ แต่กรมก็รายงานเพียงสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของกรมไปเท่านั้น 

“เราได้รายงานรัฐบาลว่าเป้าหมายการณ์จัดเก็บรายได้ของเราเป็นอย่างไร และใช้กลยุทธ์อะไรบ้าง รวมทั้งมีการประเมินว่าหากทำเต็มที่แล้ว กรมจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย 1.5-2 แสนล้านบาท จากเป้าการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 66 อยู่ 2.029 ล้านล้านบาท”

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากการรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลแล้ว ยังมีการหารือเรื่องแนวทางการลดภาษีน้ำมันดีเซล เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการ ต้องดูว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล ครั้งที่ 8 ว่าจะลดอัตราเท่าไหร่ ระหว่าง 2-5 บาทต่อลิตร ซึ่งการลดภาษีน้ำมัน 1 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 2,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมา ได้ลดภาษีน้ำมันดีเซล ตั้งแต่เดือนก.พ.65 ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 20 ก.ค.66 รวมได้เห็นชอบใช้มาตรการลดภาษีดีเซลไปแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 1.58 แสนล้านบาท 

“หากใช้แนวทางลดอัตราภาษีน้ำมันลง 2 บาท จะช่วยเหลือประชาชนได้นาน 5 เดือน แต่หากใช้แนวทางการลดอัตราภาษีลง 5 บาท จะสามารถช่วยเหลือได้นาน 2 เดือน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้ตัดสินใจ เนื่องจากยังติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ประกอบกับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มทยอยปรับราคาลดลงแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บรายได้กรมสรรพสามิตเดือนพ.ค.66 ในปีงบประมาณ 2566 เก็บรายได้ที่ 313,629 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 65,730 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยจัดเก็บภาษีน้ำมันได้ 9,173 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 10,925 ล้านบาท เนื่องจากการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท เพื่อไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ออกมาตรการภาษีดังกล่าว ผลจัดเก็บรายได้ภาษีน้ำมันมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าเป้าหมายเอกสารงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น

  • ปีงบประมาณ 2565 เก็บภาษีน้ำมันได้ 167,587 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 43,012 ล้านบาท  
  • ปีงบประมาณ 2564 เก็บภาษีน้ำมันได้ 203,783 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 17,446 ล้านบาท  
  • ปีงบประมาณ 2563 เก็บภาษีน้ำมันได้ 224,502 ล้านบาท เกินเป้า 14,478 ล้านบาท  
  • ปีงบประมาณ 2562 เก็บภาษีน้ำมันได้ 210,024 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 14,859 ล้านบาท  
  • ปีงบประมาณ 2561 เก็บภาษีน้ำมันได้ 224,883 ล้านบาท เกินเป้า 7,998 ล้านบาท