รมว.คลัง ร่วมประชุม OECD สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ

09 มิ.ย. 2566 | 08:42 น.

รมว.คลัง ร่วมประชุม OECD ถกสร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ แนะแต่ละประเทศคุมเงินเฟ้อ-รักษาวินัยการคลัง พร้อมหารือประเด็นภาษีระหว่างประเทศ

นายพรชัย ฐีระเวช ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี (Meeting of the Council at Ministerial Level 2023) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2566 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1. ที่ประชุมได้หารือถึงแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศสมาชิก OECD โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถเผชิญความท้าทายต่าง ๆ ในระยะต่อไป และส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม ด้วยการให้แต่ละประเทศควบคุมเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันก็ให้รักษาวินัยทางการคลัง ด้วยการลดการช่วยเหลือทางการเงินที่ไม่จำเป็น

รมว.คลัง ร่วมประชุม OECD สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ

2. ที่ประชุมเห็นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตควรเน้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถ้อยแถลงว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าเพื่อไปสู่ Net Zero ภายในปี 2608

โดยใช้นโยบายหลัก คือ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG Economy Model) และกระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือทางการเงินการคลังสนับสนุนการไปถึงเป้าหมายดังกล่าว เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้เสนอให้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งให้เป้าหมาย Net Zero เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยยินดีที่จะสนับสนุนและร่วมมือกับ OECD ต่อไปในอนาคต

3. ที่ประชุมให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน ยึดมั่นในตลาดเสรีที่เปิดกว้าง ให้ประชาชนในประเทศสมาชิก OECD ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม และเป็นไปตามกฎระเบียบสากล

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมหารือกลุ่มย่อยในประเด็นด้านภาษีและการพัฒนา ซึ่งได้มีการหารือถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาษีระหว่างประเทศ แนวทางการเพิ่มความโปร่งใสในประเทศกำลังพัฒนา และการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาษีระหว่างประเทศ