ธุรกิจครอบครัวใหญ่สุด 500 แห่งทั่วโลก สร้างรายได้ 280 ล้านล้านบาท

29 พ.ค. 2566 | 07:53 น.

อีวาย (EY) เผย ธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก 500 แห่ง สร้างรายได้ 279.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

อีวาย (EY)เผยแพร่ในรายงาน 2023 EY and University of St.Gallen Family Business Index ซึ่งได้จัดอันดับ 500 ธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้ และมีการเผยแพร่ทุก  2 ปี พบว่า ธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งทั่วโลก สามารถสร้างรายได้ 8.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐฯหรือประมาณ  279.42 ล้านล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยน 34.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องและมีการจ้างงาน 24.5 ล้านอัตรา ใน 47 ประเทศ ซึ่งสูงพอจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามรองจากสหรัฐฯ และจีน

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจทั่วโลกมาอย่างยาวนานและความมั่นคงยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของบริษัทที่ติดอันดับประจำปี 2566 โดยกว่าสามในสี่ (76%) จากทั้งหมดดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี และเกือบหนึ่งในสาม  (31%) มีอายุกว่าร้อยปี 

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหล่านี้ยังได้รับแรงสนับสนุนจากลักษณะโครงสร้างคณะกรรมการบริหารบริษัท ซึ่งเกือบหนึ่งในสี่ (23%) ของตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารทั้งหมดเป็นของสมาชิกในครอบครัว และเกือบครึ่งหนึ่ง (45%) มีสมาชิกในครอบครัวดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)

นายวรพจน์ อำนวยพาณิชย์ หุ้นส่วน EY ประเทศไทยกล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาในรายงานฉบับนี้พบว่า ธุรกิจครอบครัว 17 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายชื่ออยู่ใน 500 อันดับแรก รวมถึงธุรกิจครอบครัว 4 แห่งจากประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 

นายวรพจน์ อำนวยพาณิชย์ หุ้นส่วน EY ประเทศไทย

ธุรกิจเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานร่วม 850,000 อัตราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 212,836 อัตราในประเทศไทย  โดยอายุเฉลี่ยของสมาชิกคณะกรรมการบริหารของธุรกิจเหล่านี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ 62 ปี  และ 63 ปีในประเทศไทย 

“จากข้อมูลที่ว่า อายุเฉลี่ยของสมาชิกคณะกรรมการบริหารมากกว่า 60 ปีนั้น ชี้ให้เห็นถึงถึงความจำเป็นที่ธุรกิจครอบครัวทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยต้องพิจารณาการต่ออายุของคณะกรรมการบริหาร รวมถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจและตำแหน่งไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งควรจะต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า"นายวรพจน์กล่าว

ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจครอบครัวมีขนาดและความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนการสืบทอดธุรกิจที่ดี มีหลายกรณีที่ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหาในการส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นต่อไป โดยมีเหตุมาจากประเด็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลหรือความขัดแย้งภายใน

ดังนั้น การวางแผนสืบทอดตำแหน่งตั้งแต่เนิ่น ๆ และการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับมือกับประเด็นเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว”หลายเรื่องต้องเร่งแก้ไขเพื่อเพิ่มความเสมอภาคทางเพศของสมาชิกคณะกรรมการบริหารบริษัท

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจะได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีการปรับตัวรวดเร็ว สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ยังคงต้องปรับปรุงแก้ไขในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ในขณะนี้ ทั่วโลกมีซีอีโอที่เป็นเพศหญิงประมาณ 6% และมีเพียง 23% ที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารจากทั้งหมด

สำหรับประเทศไทยนั้น มีซีอีโอเพศหญิงเพียงหนึ่งในสี่ และมีสมาชิกคณะกรรมการบริหารเป็นเพศหญิงไม่ถึง 13% ของตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารทั้งหมด

“ความโดดเด่นที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในเอเชียแปซิฟิกน่าสนใจอย่างยิ่ง และเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าธุรกิจครอบครัวมีอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพียงใด ซึ่งน่าติดตามต่อไปว่าบริษัทที่ก่อตั้งมายาวนานเหล่านี้จะทำอย่างไรเพื่อให้สามรถปรับตัวและประสบความสำเร็จท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีในปัจจุบัน อีกทั้งบทบาทของคนรุ่นถัดไปในการจัดการกับความท้าทายเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง”นายวรพจน์กล่าว