ธ.ก.ส.จ่อออกมาตรการแก้หนี้ ตั้งเป้ากด NPL ต่ำกว่า 5.5%

12 พ.ค. 2566 | 04:28 น.

ธ.ก.ส.วางเป้าลดหนี้เสียให้ต่ำกว่า 5.5% ในปีบัญชี 66/67 ผ่าน 3 แนวทางหลัก พร้อมเล็งออกมาตรการแก้หนี้ใหม่ ดูแลเกษตรกร

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า หลังจากสถานกาณ์โควิดเกิดขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น กระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเกษตรกร  ทำให้อัตราหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 12% ของสินเชื่อคงค้างในช่วงที่ผ่านมา

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สภาพลูกหนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้น ได้ทำให้หนี้เสียของธนาคารดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 7.6% ของสินเชื่อคงค้าง และในปีบัญชี 2566/67 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราหนี้เสียลงให้มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5.5% โดย ธ.ก.ส.ได้เตรียมที่จะออกมาตรการใหม่มารองรับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียอีกด้วย

 

“เท่าที่เราได้ประชุมกับสาขาทั่วประเทศในเรื่องแผนการดำเนินธุรกิจในปีบัญชีนี้ เราเห็นความเป็นไปได้  ที่จะทำให้ระดับหนี้เสียปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5.5%”นายฉัตรชัยกล่าว

สำหรับแนวทางที่จะทำให้ระดับหนี้เสียลดลง จะประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ ปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น เข้าไปบริหารจัดการหนี้ ผ่านการออกมาตรการใหม่ และพัฒนาระบบไอทีเข้ามาช่วย

โดยในส่วนของการปล่อยสินเชื่อใหม่นั้น ธนาคารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป้าสินเชื่อใหม่ในปีบัญชีนี้อีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทุกๆ วงเงินสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มได้ 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้ระดับหนี้เสียของธนาคารลดลงประมาณ 0.5%

ส่วนแนวทางการเข้าไปบริหารจัดการหนี้นั้น ธนาคารจะนำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับระบบเดิมที่ใช้ในปัจจุบันที่นอกจากจะมีต้นทุนที่สูงแล้ว ยังทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้เสียมีความล่าช้าอีกด้วย

ขณะที่เป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น เราจะให้น้ำหนักไปที่ลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก โดยลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นลูกค้าที่ถือเป็นหัวขบวนเกษตรกรลูกค้าของธนาคาร ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ จะเป็นลูกค้าที่มีตลาดส่งออก ดังนั้น เขาจะมีแนวทางด้านการตลาด การผลิต ซึ่งจะช่วยเกษตรกรในเครือข่ายให้เข้าสู่อุตสาหกรรมได้จำนวนมาก

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อ BCG ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของธนาคารต้นไม้ และการปล่อยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้ เราเตรียมดำเนินการปล่อยสินเชื่อสำหรับเกษตรกรที่ทำคาร์บอนเครดิตอีกด้วย คาดว่า จะเปิดตัวโครงการในเร็วๆ นี้

“นโยบาย BCG นั้น เรามีโครงการธนาคารต้นไม้ กรีนเครดิตปล่อยสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และเราเตรียมดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิต เพราะลูกค้าธ.ก.ส.ที่ทำเกษตรกรรม สามารถคำนวณคาร์บอนเครดิตเอามาจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะนี้ เราให้ฝ่ายวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกกฎระเบียบ ก็เตรียมเปิดตัวในช่วงเข้าพรรษานี้”

ส่วนนโยบายการพักหนี้เกษตรกรของพรรคการเมืองต่างๆ นั้น ทางธนาคารพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบาย แต่ขอดูรายละเอียดของนโยบายที่ชัดเจน และพิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่องบดุลของธนาคารด้วย เพราะอย่าลืมว่า เรายังทำหน้าที่เป็นธนาคาร ขณะเดียวกัน ก็จะทำหน้าที่ในการดูแลสังคมด้วย