แบงก์ชาร์จค่าต๋งปี66 ดันรายได้แตะ 1.8 แสนล้านบาท

07 เม.ย. 2566 | 07:40 น.

แบงก์ดิ้นหารายได้อุดช่องค่าธรรมเนียมโตไม่หวือหวา เหตุธปท.หนุนใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เดินหน้ารื้อโครงสร้างค่าธรรมเนียมทั้งระบบ “ทีทีบี” ชี้ตู้เอทีเอ็มมีต้นทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปี 66 รายได้ธรรมเนียมแตะ 1.8 แสนล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งในระบบมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ปี 2565 รวม 157,889 ล้านบาทลดลง 8,051 ล้านบาท หรือลดลง 4.85% ขณะที่รายได้จากบริการบัตร ATM บัตรเดบิต และบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจาก 29,757 ล้านบาทเหลือ 27,896 ล้านบาทในปี 2564 และ 27,753 ล้านบาทในปี 2565

แบงก์ชาร์จค่าต๋งปี66 ดันรายได้แตะ 1.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เป็นผลจากพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยที่เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การใช้เงินสดเริ่มถูกแทนที่ด้วย digital payment จึงเป็นที่มาของการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินไม่ใช้บัตร ของธนาคารกรุงไทย ด้วยเหตุผลว่า เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล ลดการใช้เงินสด แต่ต้องถอยในที่สุดหลังจากถูกกระแสสังคมต่อต้านอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2565-2567 ธปท.มีเป้าหมายจะยกระดับให้การใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของประชาชน เพื่อมุ่งสู่การลดใช้เงินสดในระยะยาว

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ ทบทวนโครงสร้างราคาของบริการชำระเงิน และค่าธรรมเนียมการชำระเงินรูปแบบต่างๆ ทั้งเงินสด เช็ค และบริการชำระเงินดิจิทัลให้เหมาะสม ภายใต้หลักการคือ สนับสนุนให้ลูกค้าสามารถใช้บริการชำระเงินได้เพิ่มขึ้นและทั่วถึง และสนับสนุนให้การพัฒนาบริการด้านการชำระเงินดิจิทัล สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับกลไกตลาด รองรับบริการชำระเงินที่จะมีหลากหลายรูปแบบในอนาคต และต้องตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีttb Analytics)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลักการบริการจัดการตู้เอทีเอ็มจะมีค่าบริการจัดการหลากหลาย เช่น ค่าเช่าพื้นที่วางเครื่อง ค่าเครื่อง ค่าจัดการเงินสด เช่น ค่าขนเงิน ค่าประกัน ค่าเสียโอกาสที่เงินสดค้างอยู่ในเครื่อง อีกทั้งธนาคารแต่ละแห่งจะมีจำนวนเครื่องเอทีเอ็มที่ไม่เท่ากัน

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ( ttb Analytics)

ส่วนตัวมองว่า การลดค่าธรรมเนียมจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกับระบบธนาคารพาณิชย์ เพราะบางครั้งค่าธรรมเนียมที่ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บจากลูกค้า ทางธนาคารก็ต้องออกเอง ซึ่งโครงสร้างค่าธรรมเนียมไม่ได้มองในฐานะรายได้ แต่มองว่า บางรายการส่งผ่านให้ลูกค้าได้หรือไม่ได้

ส่วนแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมปี 2566 นายนริศกล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจเปิดทั้งระบบ น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่  โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากการปล่อยสินเชื่อที่เติบโตขึ้น รายได้จากค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์ ส่วนค่าธรรมเนียมเทรดไฟแนนซ์และอัตราเปลี่ยน (FX) ไม่แรงเพราะภาคส่งออกและการนำเข้าคงจะไม่เติบโตมาก

ขณะที่กองทุนรวม (mutual fund) ที่ผ่านมาเคยพยุงรายได้ไว้ แต่ปีนี้น่าจะชะลอลง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ฟื้นจากปีที่แล้วคือ กองทุนรวม(mutual fund) เป็นจังหวะที่ตลาดยังไม่เอื้ออำนวยในการลงทุน

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปี 2566 แนวโน้มน่าจะเห็นการขยายตัวเพียงหลักเดียวอยู่ที่ 1.5-2.5% ค่ากลางที่ 2% มูลค่าประมาณ 180,500 ล้านบาทจากปีที่แล้วเติบโต 1.5% มูลค่า 177,074 ล้านบาท

แบงก์ชาร์จค่าต๋งปี66 ดันรายได้แตะ 1.8 แสนล้านบาท

ส่วนปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศ การเดินทางและการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น หมวดบัตรเครดิต ค่าบริการที่ปรึกษาการจัดและการออก การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และการค้าตราสารหนี้ ซึ่งไตรมาส 1 ปีนี้ยังมีภาคเอกชนทยอยออกหุ้นกู้อีก หลังจากปีที่แล้วมีการออกหุ้นกู้แล้ว

ทั้งนี้รอบปีที่แล้ว รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 1.5% ดีขึ้น แต่ไม่หวือหวา หากเทียบจากปี 2563 ที่ขยายตัว 0.3% เนื่องจากที่ผ่านมาพยายามจะลดค่าธรรมเนียมตามนโยบายการให้บริการอย่างเป็นธรรม หรือ Market Conduct ของธปท.ที่เข้ามาดูแลค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้แง่ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จึงไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา

อย่างปีที่ผ่านมาพบว่า ค่านายหน้าหดตัว 16% บริการโอนเงินและเรียกเก็บเงินหดตัว 10.9% การติดตามทวงถามหนี้หดตัว 22% ซึ่งค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ยังมีประเด็นจะคิดบนหนี้ก้อนไหน ทำให้มีเพดานของการปรับหรือชาร์จค่าธรรมเนียมต่างๆ (เช่น หนี้เงินต้นเฉพาะงวดค้างไม่ได้คิดย้อนหลัง)

ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้า โอกาสจะอัพไซด์รายได้ค่าธรรมเนียม จะต้องทำควบคู่กับการพัฒนาบริการหรือออกผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ๆ หรือการโอนเงินระหว่างประเทศ ส่วนแนวโน้มขึ้นกับธปท.ว่า จะพิจารณาค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้นด้วย ขณะที่รายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยในระบบมาจากรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 71.9% ที่เหลือเป็นรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 28.1%

 “แนวโน้มรายได้ของแบงก์จะมาจากการร่วมลงทุน ไม่ได้มาในรูปค่าธรรมเนียม ซึ่งรอดูการเติบโตธุรกิจร่วมทุนและเงินปันผล สำหรับปีนี้แบงก์น่าจะบุกตลาดเวลธ์ โดยคาดหวังรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ปรึกษา เพราะธปท.ยังพยายามดูแลบัตรเครดิตผ่านขารับบัตร บริการที่ปรึกษาอันเดอร์ไรท์”นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว