วิกฤต Bank Run เมื่อวิ่งไปแบงก์ แล้วถอนเงินไม่ได้

12 มี.ค. 2566 | 09:30 น.

ชวนทำความรู้จัก วิกฤต Bank Run เมื่อผู้คนวิ่งไปแบงก์ แล้วถอนเงินไม่ได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เเละน่ากังวลขนาดไหน

ทั่วโลกกำลังจับตามความเคลื่อนไหว หลังสหรัฐฯ สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank (SVB) ธนาคารที่เน้นให้บริการเงินกู้แก่บริษัทสตาร์ทอัพ หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องรุนแรงจนลูกค้าแห่ถอนเงิน (Bank Run)  นับเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008

การปิดตัวลงของ SVB มีขึ้นไม่กี่วัน ตามหลัง Silvergate Capital Corp ธนาคารที่เน้นการให้บริการกับลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมคริปโตฯ ประกาศว่าจะปิดกิจการ ขณะที่ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Moody’s และ S&P Global ประกาศปรับลดอันดับเครดิตของ SVB Financial Group และธนาคารในเครืออย่าง SVB ลง

มีการประเมินจาก ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)  ระบุผ่านโพสต์บน Facebook ว่า ปัญหานี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา และยังคงต้องจับตาต่อไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หวนคิดถึงศัพท์การเงิน Bank Run คนที่อยู่ในแวดวงการลงทุน เเละคลุกคลีกับธนาคารอยู่บ้าง อาจเข้าใจคำนี้ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่วงการนี้อาจจะอยากรู้ว่าคืออะไร "ฐานเศรษฐกิจ" จึงชวนมาทำความรู้จักไปพร้อมกัน เพราะถ้าลองจินตนาการว่าทุกคนไปที่แบงก์ เพื่อถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมดก็คงน่ากังวลไม่น้อย

“Bank Run” คืออะไร

การที่ผู้คนแห่กันไปสถาบันการเงินหรือธนาคารเพื่อถอนเงินออกมา เพราะพวกเขาขาด "ความเชื่อมั่น" ในสถาบันการเงินนั้นๆ ที่อาจจะไปสู่การล้มละลาย หรือมีผลกระทบอื่นๆ ที่ทำให้เจ้าของเงินรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อพากันไปถอนเงินจำนวนมากธนาคารอาจไม่สามารถหาเงินมาให้กับทุกคนได้ในเวลาขณะนั้น 

“Bank Run” ในต่างประเทศ 

สหรัฐอเมริกา ประมาณปี 2472 เป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นสหรัฐตกต่ำ ประชาชนอ่อนไหวกับข่าวลือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดกระแสแตกตื่นกับผู้ฝากเงิน โดยในปีต่อมาเกิดปรากฎกาณ์แบงก์รันเป็นครั้งแรกในเมืองแนชวิล์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนแห่ไปถอนเงินจากธนาคารจนไม่สามารถให้ถอนเงินได้ เกิดการขาดแคลนเงินสดของธนาคารในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอ ทำให้ธนาคารหลายแห่งจำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ต่างๆ ของธนาคารในราคาที่ต่ำเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาให้กับประชาชนที่ต้องการถอนเงินจากธนาคาร

ขณะที่ในช่วงวิกฤตซับไพรม์ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ปี 2550 - 2552 ในสหรัฐ และลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปก็ถูกลูกหลง เช่น Nothern Rock ในอังกฤษ ประชาชนทั้งประเทศไปต่อคิวถอนเงินปิดบัญชีที่แบงก์ มีการแห่ถอนเงินมากถึง 1,000 ล้านปอนด์  รัฐบาลต้องเข้าอุ้มและโอนกิจการมาเป็นของรัฐ 

ประเทศไทยกับการเกิดแบงก์รัน “Bank Run”

ปี 2557 เป็นผลมาจาก “เงินกู้อินเตอร์แบงก์” กระทรวงการคลังตัดสินใจกู้เงินระหว่างธนาคาร  โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้กับชาวนา เป็นผลมาจาก "นโยบายจำนำข้าว" ของรัฐบาลในยุคนั้น เกิดกระแสต่อต้านจนขาดความเชื่อมั่น ประชาชนแห่ถอนเงินจากธนาคารออมสินเป็นจำนวน 1.05 แสนล้านบาทภายใน 4 วัน บางสาขาขาดเงินสดต้องจ่ายเป็นเช็คแทน  เป็นการสร้างสถิติของธนาคารออมสินในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  

เบน เบอร์นานเก ดักลาส ไดมอนด์ และฟิลิป ดิบวิก ทั้ง 3 คือ นักเศรษฐศาสตร์ที่วางรากฐานของการศึกษาธนาคาร และทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของธนาคารกับระบบเศรษฐกิจอย่างไรในช่วงวิกฤต ได้รับรางวัลโนเบลมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2022 เคยศึกษาเรื่องนี้ไว้

เเต่จะขอหยิบมาเพียง เบน เบอร์นานเก ระบุว่า ความจริงแล้วการล้มละลายของธนาคารไม่ใช่แค่ผลที่ตามมาหลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน แต่คือหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้วิกฤตการณ์ทางการเงินนั้นรุนแรงขึ้น และเหตุการณ์ที่คนแห่ไปถอนเงิน (bank runs) นั้นก็นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ 

ข้อมูล nobelprize