10 แบงก์ไทย กำไรปี65 พุ่ง 2 แสนล้านบาทโต 10%

21 ม.ค. 2566 | 05:23 น.

10 แบงก์ไทยอู้ฟู่ โชว์ผลงานปี 65 กำไรรวม 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,729 .48 ล้านบาทหรือ 9.69% จากปีก่อน ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยและดอกเบี้ยขึ้น

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 10 แห่งรายงานผลประกอบการปี 2565 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 200,662.82 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17,729 .48 ล้านบาทจากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิรวม 182,933.2 ล้านบาทหรือ 9.69%  ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565จากภาคการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565

ผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2565

ขณะเดียวกันทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งรวม 0.75% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ ทำให้ภาพรวมรายได้ดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นด้วย

ธนาคารที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดของกำไรสุทธิปี 2565 คือ ธนาคาร กรุงไทย (KTB) ที่มีกำไรสุทธิ กำไรสุทธิ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 56.09% จากปี 2564 รองลงมาเป็นธนาคาร ทหารไทยธนชาต (TTB) ที่มีกำไรสุทธิ  14,195.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.52% จากปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากทั้งด้านรายได้ ประสิทธิภาพด้านต้นทุน และค่าใช้จ่ายตั้งสำรองที่ลดลง  ตามด้วยธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) มีกำไรสุทธิ 3,033.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.27% จากปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่งมีเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่มีผลประกอบการปี 2565 ปรับลดลงจากปีก่อนคือ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ  30,712.99 ล้านบาทลดลง 3,081.2 ล้านบาทจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 33,794.19 ล้านบาท หรือลดลง 9.11% ซึ่งเป็นผลจากการรายการพิเศษจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ในปี 2564

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการดำเนินงานปกติ ปี 2565 ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 19.9% หรือ 5,104 ล้านบาท จากปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาระการตั้งสำรองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้นในระหว่างปีด้วย

 

ขณะที่ธนาคาร กสิกรไทย(KBANK) มีกำไรสุทธิ 35,770 ล้านบาท ลดลง 2,283 ล้านบาทจากปีก่อน หรือ 6.00% ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL)สูงถึง 51,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  28.73% จากปีก่อน เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง