ผลงานสั่งลา! ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่เกินเป้า 6 หมื่นล้าน

21 ม.ค. 2566 | 04:13 น.

ธอส.โชว์ผลงานปี 65 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทะลุ 2.87 แสนล้านบาท เกินเป้า 26.70% หรือ 6 หมื่นล้านบาท ผลจากเศรษฐกิจเริมฟื้นตัว ส่งผลรายได้ประชาชนดีขึ้น แถมมาตรการรัฐที่จะสิ้นสุดปี 65 เร่งตัดสินใจ

ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)คนใหม่ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2566 แทนนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ซึ่งจะเกษียณอายุการทำงานวันที่ 25 มีนาคม 2566 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ธอส.ปี 2565 ว่า ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 286,888 ล้านบาท 234,266 บัญชี เพิ่มขึ้น 16.21% จากปีก่อน สูงกว่าเป้าหมาย 60,465 ล้านบาทหรือ 26.70% จากเป้าหมายสินเชื่อใหม่ปี 2565 ที่  226,423 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)

ทั้งนี้สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง 120,415 ราย ส่งผลให้สิ้นปี 2565 ธอส.มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,589,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.98% จากปี 2564 ยังคงความเป็นผู้นำของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบสถาบันการเงินที่ 33.48% (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565) มีสินทรัพย์รวม 1,659,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.16% และเงินฝากรวม 1,416,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.11%

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)  59,814 ล้านบาท คิดเป็น 3.74% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 4.00% สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ NPL ด้วยการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาผ่อนชำระในเชิงรุก เช่น ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่ง ณ วันที่ 3 มกราคม 2566 มีลูกค้าอยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการรวม 62,175 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 61,728 ล้านบาท

ผลการดำเนิงาน ธอส.

ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือไปถึงเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 22,967 ราย ธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 129,018 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 215.70% เพื่อความมั่นคงและความพร้อมรองรับความเสี่ยงในอนาคตของกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 

ขณะที่กำไรสุทธิ 14,047 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 15.18% (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2565) สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

 

“ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้เกินกว่าเป้าหมายได้ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยและรายได้ของประชาชนที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ประกอบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถือเป็นช่วง High Season ของตลาดที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะสิ้นสุดในปลายปี 2565 เป็นตัวเร่งการตัดสินใจของประชาชด้วย”นายฉัตรชัยกล่าว

 

ขณะเดียวกัน การประกาศการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านของ ธอส. ไว้ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 แม้ตลอดปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 0.75% ต่อปี ทำให้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อของ ธอส. ทุกประเภทได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องการมีบ้าน

 

สำหรับปี 2566 ธอส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 233,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากเป้าหมายในปี 2565 ที่อยู่ที่ 226,423 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในการจัดทำ “โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” ภายใต้กรอบวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัย จากสถาบันการเงินอื่นมาที่ ธอส.

ล่าสุด ณ วันที่ 17 มกราคม 2566 มีผู้ประกันตนขอรับรหัสเข้าร่วมโครงการผ่าน Application GHB ALL GEN มากกว่า 57,000 ราย และ ธอส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้วมากกว่า 2,300 ล้านบาท