หนี้เสียล้นแบงก์ จับตา 4.11 ล้านล้าน ไหลรวมเอ็นพีแอล

07 ธ.ค. 2565 | 22:29 น.

จับตาหนี้ก้อนใหญ่ 4.11 ล้านล้านบาท เป็นลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท แถมจัดชั้น Stage2 อีก 1.13 ล้านล้านบาท ไหลสมทบเอ็นพีแอลในระบบที่ค้างกว่า 5.02 แสนล้านบาท ค่ายกสิกรไทยระบุ ตัวเลขยังนับซ้ำ คาดการณ์หนี้เสียสิ้นปี 2.75%

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(NCB) หรือ เครดิตบูโร ออกมาระบุว่า มีความกังวลกับ สินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีการปล่อยกู้สูง โดยมาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับ ธนาคาร ออมสิน ราว 15 ล้านบัญชี หรือ 5-6 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบาง โอกาสจะเป็นหนี้เสียในอนาคตประมาณ 2-3 ล้านคน หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ไตรมาส3 ของปีนี้อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% และหนี้ที่จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อีกราว 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3.1% โดย 2 ส่วนดังกล่าวรวมกันจะมีหนี้เสียแล้วและส่วนที่ยังเฝ้าดู มูลหนี้ราว 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องเฝ้าดูใกล้ชิดว่า จะไหลมาเป็นหนี้เสียหรือไม่

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า แม้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมจะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

 

บอร์ดกนง.จึงเห็นว่า ควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

 

หนี้เสียล้นแบงก์ จับตา 4.11 ล้านล้าน ไหลรวมเอ็นพีแอล

สอดคล้องกับภาพรวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังสะท้อนความเปราะบางทั้งหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  ตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม(Stage2) และเอ็นพีแอลยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบด้วยด้วย

  • การแก้ไขหนี้เดิม คงเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาท(ณ วันที่ 31 สิงหาคม2565) ลดลงกว่า 1.62 ล้านล้านบาทจากที่เคยสูงถึง 4.6 ล้านล้านบาทช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีการระบาดของโควิด-19

 

ลูกหนี้คงเหลืออยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ 2.98 ล้านล้านบาทนั้น มีจำนวน 3.88 ล้านบัญชี แบ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.94 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1.57 ล้านบัญชี ที่เหลือเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มูลหนี้ 1.05 ล้านล้านบาท จำนวน 2.31 ล้านบัญชี

 

  • การให้สินเชื่อใหม่ของธปท. รวม 340,077 ล้านบาท ลูกหนี้ที่ได้รับอนุมัติวงเงิน 136,010 รายแบ่งเป็นสินเชื่อฟื้นฟู 201,877 ล้านบาท 58,223 รายและโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(Soft Loan)ณ ปิดรับคำขอเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 จำนวน 138,200 ล้านบาท ลูกหนี้ 77,787 รายและ 3. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้จำนวน 55,286 ล้านบาท ลูกหนี้ 396 ราย (ณ 28 พฤศจิกายน 2565)

 

ขณะเดียวกันยังมีตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage2) หรือหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาทคิดเป็น 6.27 ต่อสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 20,093 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 1.80% จากไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.11% ของสินเชื่อรวม  แต่ปรับลดลง 9.87% หากเทียบจากไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 7.77% มูลหนี้ 1.25 ล้านล้านบาท

 

นอกจากนั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs/Stage3)ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 5.02 แสนล้านบาทลดลง 4.78 แสนล้านบาทจากไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 5.27 แสนล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 6,872 ล้านบาทหรือ 1.38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 4.95 แสนล้านบาท

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงให้นํ้าหนักกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวังต่อเนื่อง เห็นได้จากลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือยังไม่นิ่ง ซึ่งเป็นผลจากระบบธนาคารยังเน้นการประคองลูกหนี้

 

ประกอบกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 2564) ของ ธปท. ยังคงอยู่ไปจนถึงสิ้นปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัว ดังนั้นทั้งลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ รวมทั้ง Stage2 และ Stage3 ส่วนหนึ่งจะเป็นลูกหนี้ที่ซํ้ากันอยู่

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

“ช่วงที่เหลือ จึงยังเห็นลูกหนี้ทยอยออกจากมาตรการและไหลกลับเข้ามาตรการช่วยเหลือเป็นระยะๆ เพราะธนาคารแบงก์ยังให้นํ้าหนักกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และประคองลูกหนี้รายที่ไปต่อได้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเองได้ปรับลดคาดการณ์เอ็นพีแอลทั้งปีนี้จากเดิมมองว่าไม่น่าจะเกิน 3% แต่หลังจากเห็นแบงก์จัดการหนี้เชิงรุกทั้งเร่งปรับโครงสร้างและตัดขายหนี้ จึงเป็นที่มาของการปรับคาดการณ์เอ็นพีแอลเหลืออยู่ที่ 2.75% ส่วนปีหน้าอาจจะต้องทบทวนอีกครั้งจากก่อนหน้ามองไว้ที่ 3%” นางสาวกาญจนา กล่าว

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวสถาบันการเงิน กล่าวว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ยังคงเน้นการประคองลูกหนี้ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังช้ากว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้นภารกิจหลักของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จึงเน้นการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีลูกหนี้บางรายที่พยายามและมีโอกาสจะแก้ไขปัญหาหนี้ได้ อีกทั้งยังมีอานิสงส์จากมาตรการผ่อนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท.ด้วย

 

แต่ในทางกลับกันระหว่างทางยังมีลูกหนี้รายที่ชักหน้าไม่ถึงหลังคือ ไม่เห็นอนาคต ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้จำเป็นต้องตัดขายออกจากระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือเอเอ็มซี ที่รับบริหารจัดการหนี้ต่อไป และแนวโน้มเชื่อว่า จะเห็นการขายเอ็นพีแอลเพิ่มมากขึ้นในปี 2566 ส่วนหนึ่งเพราะลูกหนี้ไปต่อไม่ได้

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565