สินเชื่อบ้านฟื้นจากโควิด สิ้นปีแตะ 6.40 แสนล้าน

25 ธ.ค. 2565 | 12:47 น.

นายแบงก์มองสินเชื่อบ้านกลับมาฟื้นตัวเท่าก่อนโควิด-19 ระบาด สิ้นปีแตะ 6.4 แสนล้านบาท หลังเปิดประเทศหนุนเชื่อมั่น แถมได้มาตรการ LTV ชี้ปี 66 เทรนด์รักษ์โลก: Go Green หนุนดีเวลลอปเปอร์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือสินเชื่อ pre finance ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยยังคงติดลบ 3.72% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการหันไประดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้แทนที่พบว่าขยายตัว 8.29%

สินเชื่อบ้านฟื้นจากโควิด สิ้นปีแตะ 6.40 แสนล้าน

ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือ post finance ขยายตัว 14.29% โดยเป็นการขยายตัวทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง 18.29% ขณะที่สินเชื่อรีไฟแนนซ์ขยายตัวสูงถึง 30.45% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2562

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยครึ่งแรกปีนี้เติบโต 5.6% มูลค่า 3.12 แสนล้านบาทจากปีที่แล้ว 2.95 แสนล้านบาท คาดว่า สิ้นปีจะเห็น 6.40 แสนล้านบาท

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เป็นการฟื้นกลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของ โควิด-19  โดยราคาบ้าน 3-10 ล้านบาท 3-7 ราคาปรับขึ้นพอสมควร ขณะที่ราคาบ้าน 10 ล้านบาทนั้นเป็นราคาที่คนทั่วไปเริ่มเข้าถึงได้มากขึ้น

“ปีนี้เรามีสินเชื่อ ซุปเปอร์เซฟวิ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักและไม่ได้กังวลเรื่องเป้าหมาย เพราะดูแล้ว เราปล่อยสินเชื่อบ้านได้เกินตลาดแน่ เพราะครึ่งปีหลังยอดสินเชื่อค่อนข้างสูง”นายณัฐพลกล่าว

 

นายวิฑูรย์ พรสกุลวานิช รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Integrated Channels และรักษาการ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความต้องการสินเชื่อบ้านปี 2565 สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มควบคุมได้

นายวิฑูรย์ พรสกุลวานิช รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Integrated Channels และรักษาการ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิช

ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายการเปิดประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อบ้านมากขึ้น อีกทั้งมีมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น เช่น มาตรการ LTV สำหรับกู้บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ได้วงเงินกู้สูงสุด 100%

 

ดังนั้นปี 2565 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเติบโตขึ้นประมาณ 5.9% จากปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นสินเชื่อบ้านใหม่ 97% สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ 3% ส่วนปี 2566 ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตขึ้น 5.3% เป้าหมายสินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 5.7% เติบโตไปในทางเดียวกับตลาด โดยมุ่งเน้นที่ตลาดสินเชื่อบ้านใหม่เป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการตัดสินใจของการซื้อที่อยู่อาศัย

 

อีกทั้งปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ยังกดดันกำลังซื้อและหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง การปรับมาตรการผ่อนปรน LTV สำหรับการกู้บ้านหลังที่2 เป็นต้นไป ทำให้ลูกค้าต้องนำเงินสดมาผ่อนดาวน์มากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

 

“ปัจจุบันการแข่งขันการตลาดสินเชื่อบ้าน หลายธนาคารเน้นการแข่งขันด้านราคา(อัตราดอกเบี้ย)กันมาก โดยมีการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ตํ่าใน 1 หรือ 2 ปี แรก ซึ่งลูกค้าสามารถผ่อนตํ่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ ด้วยการผ่อนชำระแบบขั้นบันได (Step Payment) และ ยังมีกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อจูงใจลูกค้าเพิ่มเติมเช่น ลดค่าใช้จ่ายในการจดจำนอง, ค่าธรรมเนียมต่างๆ”

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์จะเน้นการตลาด โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าในทุกขั้นตอนของการขอสินเชื่อ ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนยื่นนำเสนอสินเชื่อ เน้นให้คำปรึกษาและให้ความรู้เรื่องสินเชื่อกับลูกค้าเพื่อให้เข้าใจในผลิตภัณฑ์

 

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า รวมทั้งจัดทำ Co-Campaign กับผู้ประกอบการต่างๆ โดยปรับรูปแบบแคมเปญให้ตรงกับตามกลุ่มลูกค้าที่กำหนดไว้เช่น โครงการ Green finance

 

นางสาวชลารัตน์ พินิจเบญจพล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเพิ่มมุมมองเชิงระวังมากขึ้นจากปัจจัยหนุนเริ่มเบาบาง เมื่อธปท.ไม่ต่ออายุมาตรการผ่อนคลาย LTV

นางสาวชลารัตน์ พินิจเบญจพล

ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อยังเปราะบาง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น การแข่งขันในธุรกิจที่สูงและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสม ล้วนยังเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมการซื้อและการลงทุนที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

 

แนวโน้มปี 2566 เทรนด์รักษ์โลกหรือ Go Green ยังมีความสำคัญต่อเนื่อง กลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และรายกลาง รวมถึงผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องประหยัดพลังงานมากขึ้น

 

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มจะนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานมาใช้ในการออกแบบก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากขึ้น บ้านประหยัดพลังงานจึงน่าจะเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของผู้บริโภค