อานิสงส์ดอกเบี้ยขึ้น แบงก์รับรายได้เพิ่ม ปีละ 1.2 หมื่นล้าน

25 ธ.ค. 2565 | 11:24 น.

กรุงไทยระบุ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% แบกรับต้นทุนจ่าย 4,000 ล้านบาท อานิสงส์แบงก์มีรายได้เพิ่ม 4,000 ล้านเช่นกัน รวม 3 ครั้ง 1.2 หมื่นล้าน

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ปิดประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2565 ด้วยมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดของสหรัฐในรอบ 15 ปี เพื่อต่อสู้ภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเมื่อสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้สำเร็จ

 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายInvestment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด(Terminal Rate) นักลงทุนมองไม่เกิน 2% บางส่วนยังมองระดับ 1.75% ซึ่งในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าของเคิร์ฟจะไม่ขยับ เพราะตลาดได้รับรู้ไปแล้วที่อัตรา 1.75-2%

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายInvestment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

อย่างไรก็ตาม ปกติธนาคารพาณิชย์ในระบบของไทยจะมีสภาพคล่องฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดังนั้นที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินสดสภาพคล่องที่ฝาก กับธปท. ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทุก 0.25% จะทำให้ธปท.มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 4,000 ล้านบาทต่อปี

 

สะท้อนธนาคารพาณิชย์ในระบบรับอานิสงส์เป็นรายได้ดอกเบี้ยรับ 4,000 ล้านบาทต่อปีเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 3 ครั้ง เท่ากับว่าธนาคารพาณิชย์มีรายได้เพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี 

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้น ปีนี้เงินบาทอ่อนประมาณ 6% ปีหน้าหากไม่มองเชิงรุกเกินไป เงินบาทจะเคลื่อนไหวปีละ 10% หรือประมาณ 3 บาท ดังนั้นทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบ 33-36 บาท โดยเงินบาทหลังเกิดโควิด 3 ปี ความผันผวนค่อนข้างสูง

 

เห็นได้จากปี 2563 อยู่ที่ 11% ถัดมาปีที่แล้ว 13% และปี 65 ผันผวนรุนแรงสุด 18% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่เชื่อว่า ปีหน้าระดับความผันผวนจะอยู่ในกรอบ 10% หรือประมาณ 3 บาท ซึ่ง ปัจจัยที่จะมีผลต่อค่าเงินบาทมาจาก 2 ส่วน

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศต่างๆทั่วโลก

  • ปัจจัยภายนอก ทั้งค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งยังถูกกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจจะถดถอยและเงินเฟ้อใน 3 เดือนข้างหน้า น่าจะอ่อนตัวลงตามลำดับ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดน่าจะจบใน 3 เดือนข้างหน้า 

 

"ตอนนี้ยังถกกันว่า เงินเฟ้อสหรัฐจะลดลงแค่ไหนหรือเฟดจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ เศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะถดถอยหรือไม่ แต่ภาพรวมค่าเงินดอลลาร์ปี 2566 ไม่น่าจะกลับไปแข็งค่าเหมือนปลายปี 2565

 

  • ปัจจัยภายใน ไม่ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งพอจะบริหารจัดการได้ มีแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะกลับมาเป็นบวกได้ ถ้าจีนเปิดประเทศและหากไทยเกินดุลบริการและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินบาท โดยเงินบาทอาจจะแข็งค่า 3% ประมาณ 1 บาทต่อดอลลาร์ เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์

 

“แนวโน้มเงินบาท 34 บาทต่อดอลลาร์ บนสมมติฐาน ถ้าจีนทยอยเปิดประเทศไตรมาส 2และกลางปี2566 หากคาดการณ์ปีหน้านักท่องเที่ยวเข้ามา 24 ล้านคนเกือบเท่าก่อนปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ดังนั้นปีหน้าความหวังจึงอยู่กับนักท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งมีสัดส่วน 70%หรือประมาณ 28 ล้านคน เท่ากับตัวเลขคาดการณ์ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีน”นายสงวนกล่าว

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี กล่าวว่า ตลาดส่วนใหญ่รับรู้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับขึ้นแตะ 1.75% ณ สิ้นปี 2566 หลังจากกนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในการประชุมวันที่ 9 กุมภาพันธ์และ 30 มีนาคม 2566

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของไทยขึ้นกับ 3 ปัจจัยคือ

  1. นโยบายการเงินของโลกและเฟดเดินหน้านโยบายการเงินต่อในปี 2566 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ความผันผวนจะสูงเงินบาทจะแกว่งตัวขึ้น 1-2 บาทต่อเดือน
  2. อัตราเงินเฟ้อไทย ยังสูงแต่แนวโน้มจะปรับลดลงตามราคาอาหาร
  3. ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและเป็นปัจจัยกดดันให้ไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว

 

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทต้องติดตามปัจจัยเศรษฐกิจสหรัฐที่มีความเสี่ยงจะถดถอย และโอกาสไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ว่า จะเกิดจากนักท่องเที่ยวหรือราคาน้ำมันปรับลดลงคือ ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดีและราคาน้ำมันลดลงไทยมีโอกาสที่จะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ประมาณ 3-5% โดยมีโอกาสลุ้นเงินบาทแข็งค่า แต่ถ้าราคาน้ำมันเด้งขึ้น แม้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมา แต่จะทำให้เงินบาทแกว่งในกรอบ 31-34 บาทได้

 

“ปีหน้ามองว่า ไทยจะกลับมาเกินดุล แต่เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสไม่ถดถอย เช่นตลาดคาด ครึ่งแรกของปีจะเห็น เงินบาทแกว่ง 34-36 บาท ครึ่งหลังของปีหน้าน่าจะเป็นจุดสำคัญทำให้เงินบาทแข็ง อาจจะเห็นที่ระดับ 32-34 บาทต่อดอลลาร์” นายจิติพล กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,847 วันที่ 25 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565