Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.0% ในขณะที่ BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโนบายที่ -0.1%

16 มี.ค. 2560 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

Event

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) 25 basis points สามเดือนหลังมีการปรับเพิ่ม 25 basis points เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2016 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ในกรอบ 0.75%-1.00% โดยประมาณการดอกเบี้ยนโยบาย หรือ dot plot ในการประชุมครั้งนี้ แสดงว่าสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ยังคงมองว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปี 2017 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนธันวาคม 2016 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2017 จะอยู่ในกรอบ 1.25-1.50%

ในการประชุมล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.1% และยังกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0% เช่นเดิม ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการลงทุนและกำไรของภาคธุรกิจปรับตัวได้ดี รวมทั้งแนวโน้มเงินเยนอ่อนค่าที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก อีกทั้งเงินเฟ้อทั่วไปมีการปรับตัวดีขึ้น

Analysis

ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นทำให้ Fed สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แม้จะยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายทรัมป์ ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเติบโตได้ดี ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานที่เริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ทยอยสูงขึ้นเป็น 1.9% ในเดือนมกราคม ซึ่งเข้าใกล้อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายโดยเฉพาะด้านการค้าและการต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก ในทางกลับกัน นโยบายที่เอื้อต่อภาคธุรกิจได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจ เห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ สมาชิก FOMC ได้ทยอยส่งสัญญาณตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดย Fed Fund Future ชี้ว่าโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 80%

อีไอซีมองว่า Fed จะสามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 50 basis points ภายในปีนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จะช่วยส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามกรอบการคาดการณ์ของ Fed และทำให้สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม dot plot ในปีนี้ หลังจากที่ล่าช้ากว่าคาดใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยอีไอซีมองว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อีก 2 ครั้ง จะอยู่ในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะเป็นช่วงที่เห็นความแน่นอนของนโยบายรัฐฯ ที่มีผลต่อเงินเฟ้อมากขึ้น ทั้งการลดอัตราภาษี และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งจะมีความชัดเจนของความเสี่ยงทางเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป อีไอซีมองว่ามีโอกาสที่ Fed จะปรับอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง หากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ อยู่ที่ 2.41% ในปัจจุบันซึ่งมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่  2%

Implication

อีไอซี คาดว่าธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ต่อไปจนถึงปลายปี 2017 แม้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม เนื่องจากไม่มีแรงกดดันด้านเงินทุนไหลออก ทั้งนี้ เพราะไทยมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 9.7% ของ GDP และมีเงินสำรองสูงถึงราว 41% ของ GDP ในปี 2016 อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงจะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.9% ในปี 2017

ผู้ระดมทุนควรตระหนักถึงต้นทุนการกู้ยืมที่มีโอกาสจะสูงขึ้นต่อเนื่อง จากผลของจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ Fed มีการปรับดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ปี 2015 พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น จาก 2.22% อยู่ที่ 2.57%(35 basis points) ในปัจจุบัน ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี เพิ่มขึ้นจาก 2.59% อยู่ที่ 2.77% (18 basis points) ในปัจจุบัน โดยหาก Fed สามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตามที่ประมาณการไว้ถึง 3 ครั้งในปี 2017 อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี มีโอกาสขึ้นไปแตะ 3% ในปลายปี 2017  ทั้งนี้ ผู้ที่ระดมเงินทุนจากตลาดเงินควรจะศึกษาจังหวะและวางแผนการระดมเงินทุนอย่างรัดกุม

แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงหลัง Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผู้ระดมทุนยังคงต้องระมัดระวังการก่อหนี้ที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงสวนทางกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมครั้งนี้ เป็นเพราะข้อความจาก Fed ที่โน้มไปทางการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป (dovish) ขณะที่นักลงทุนบางกลุ่มคาดว่าจะได้เห็นการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยมัธยฐานที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาดว่าเมื่อนักลงทุนปรับมุมมองหลังจากประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(dot plot) ครั้งนี้ออกมา จะสามารถทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มกลับไปแข็งค่า ดังนั้น ผู้ที่มีรายจ่ายในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ควรจะระมัดระวัง และติดตามอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 1: การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี

หน่วย: %

Flash  ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

ผู้เขียน: วิรันต์ภรณ์ โรจนวิภาตวนิช

             ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)