ตะลึง! หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลพุ่งเฉียด 60%

08 ก.ย. 2565 | 10:48 น.

บัตรเครดิตชู 3 ปัจจัยหนุนธุรกิจปี 65 ทั้งใช้จ่ายฟื้นตัว ราคาสินค้าเพิ่ม ท่องเที่ยวกลับ ลุ้นไตรมาส 3-4 กำลังซื้อโตต่อเนื่อง ชี้มาตรการรัฐหนุนยอดหนี้เสียบัตรเครดิตลดลง 10.76% สวนทางสินเชื่อส่วนบุคคล พบยอดหนี้เสียเดือนมิ.ย.2565 เพิ่ม 56.73% หรือกว่า 1.12 หมื่นล้านบาท

 

ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงยังเป็นประเด็นที่ทางการจับตาดูแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สนับสนุนให้เกิดการรวมหนี้(Debt consolidation) ระหว่างสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันข้ามสถาบันการเงินพร้อมทั้งมาตรการผ่อนปรนบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยขยายเวลาผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตที่ 5% เป็นปี 2566 และ 8% ในปี 2567 และผ่อนชำระเป็นปกติที่ 10% ในปี 2568 

ขณะกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่าของรายได้และไม่จำกัดจำนวนผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

 

ตะลึง! หนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลพุ่งเฉียด 60%

ข้อมูลล่าสุดจากธปท.ระบุยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่ 450,595.84 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 271,368.34 ล้านบาทและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์(นอนแบงก์) 179,227.49 ล้านบาท โดยที่ยอดค้างชำระเกิน 3 งวดหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ลดลง 10.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากมาตรการรัฐ

 

 

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลมียอดคงค้างรวม 7.68 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.49 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 24.27% จากช่วงเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ 6.18 แสนล้านบาท แต่ยอดเอ็นพีแอลสูงถึง 3.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 56.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 78.34% และมาจากกลุ่มนอนแบงก์ 30.82%

 

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การตลาดบัตรเครดิต KTC เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมยอดการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมบัตรเครดิตปีนี้น่าจะเติบโต 15-20% จากช่วง2 ไตรมาสแรกอุตสาหกรรมเติบโตที่ 28% ขณะที่อัตราการอนุมัติบัตรใหม่ของเคทีซีช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ที่ 40% และกลุ่มลูกค้าใหม่มีคุณภาพที่ดีขึ้น เพราะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นจากเดิม 3 หมื่นบาทเป็น5 หมื่นบาทขึ้นไป ทำให้มีการใช้จ่ายที่ดีขึ้น

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การตลาดบัตรเครดิต KTC

ขณะที่ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา อัตราการอนุมัติบัตรใหม่ของเคทีซีคือ 40% และกลุ่มลูกค้าใหม่มีคุณภาพดีขึ้น เพราะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นจากเดิมที่เน้น 3 หมื่นบาทเป็น 5 หมื่นบาทขึ้นไป ทำให้มีการใช้จ่ายที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนบัตรใหม่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ 2.5 แสนราย เพราะใน 8 เดือนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนรายเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามในแง่ของการใช้จ่ายจากนี้จนสิ้นปี คาดว่า มีแนวโน้มที่ดี เพราะจะมีการเดินทางต่างประเทศ ซึ่งเริ่มเห็นการเติบโตของยอดการใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยว แม้จะยังไม่โตเท่าปี 2562 ก่อนโควิด แต่เริ่มติดลบน้อยลง ดังนั้นปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่จะเติบโตการใช้จ่ายที่ 10% น่าจะเติบโตได้ที่ 15% หรือเป็นยอดการใช้จ่ายที่ 2.25 แสนล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ aeon กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ การใช้จ่ายฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนที่มีฐานต่ำ บวกกับปัจจัยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มจากอัตราเงินเฟ้อสูงทำให้มูลค่าการใช้จ่ายต่อครั้งปรับเพิ่มโดยธรรมชาติและธุรกิจการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้น แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และการใช้จ่ายยังไม่กลับไปฟื้นตัวทุกเซ็กเตอร์ เพราะขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งยังไม่เปิดประเทศ หากจีนเปิดประเทศอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาพลังงานระดับโลก ประกอบการสัญญาณภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอีกทั้งการฟื้นตัวของการใช้จ่ายกลับมาใกล้เคียงปี 2562 ยกเว้นด้านการใช้จ่ายต่างประเทศ เพราะคนไทยยังไม่เดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศในระดับสูง

 

“คนยังระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เน้นเฉพาะที่จำเป็น เพราะรายได้ในอนาคตยังไม่แน่นอน ราคาสินค้ายังเพิ่ม ซึ่งเรายังไม่มั่นใจไตรมาส 3-4 จะมีอะไรพลิกผันหรือไม่ ขณะที่สัญญาณผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อยู่ในกรอบของการดูแลในแง่มาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่โครงการไกล่เกลี่ยหนี้นั้นไม่มาก เนื่องจากลูกหนี้จะมีระยะเวลาผ่อนชำระสั้นเพียง 12 เดือน”

 

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ อิออนมียอดสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 41% โดยเป็นการทำตลาดต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เฉพาะยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นมีสัดส่วน 18% ของยอดการใช้จ่ายรวม ทั้งนี้ยอดการใช้บัตรเครดิตคิดเป็น 69%ของยอดสินเชื่อรวม โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,815 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2565