เทียบฟอร์มผลประกอบการ "PRM" พอร์ตไหนรุ่งพอร์ตไหนร่วง

11 พ.ย. 2565 | 12:04 น.

เทียบผลประกอบการ PRM ธุรกิจต่อธุรกิจพอร์ตไหนรุ่ง พอร์ตไหนร่วง หลังผลประกอบการไตรมาส 3 พุ่งแรงรับทรัพย์เข้ากระเป๋าทะลุ 1 พันล้านบาทกำไรโต 147% จากภาคบริการและธุรกิจขายเรือ

เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับ PRM ที่ในระยะที่ผ่านมา บล.ฟินันเซีย ไซรัส ออกมาวิเคราะห์ว่า กำไรไตรมาส 3 ปี 2565 จะเพิ่มขึ้น  35% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 81.9% เมื่อเทียบจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการทำงานเต็มไตรมาสของเรือ VLCC 2 ลำที่ทยอยเข้ามาในไตรมาส 2/65 และเรือ VLCC ลำที่ 3 เข้ามาเร็วกว่ากำหนด บวกกับกำไรจากการขายเรือ 2 ลำ ซึ่งมากพอที่จะหักล้างผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลดอลลาร์ราว US$42 ล้าน และเงินบาทอ่อนค่าอย่างมากในช่วงปิดไตรมาส ส่งผลให้คาดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 192.3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 36.2% เมื่อเทียบจากปีก่อน

พริมา มารีน จำกัด

ล่าสุด บริษัท พริมา มารีน จำกัด หรือ PRM รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/65 และงวด 9 เดือนแรกของปี 65 โดย มีรายได้จากการให้บริการในไตรมาส 3/2565 รวม 2,149.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2564 กว่า 39.3% กำไรขั้นต้น 715.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.1% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายงานในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น และจากการปรับอัตราค่าบริการตามภาวะตลาด

 

นอกจากนี้ในไตรมาส 3/2565 บริษัทยังมีกำไรจากการขายเรือ VLCC เก่าที่เลิกใช้งานแล้วจากกลุ่มธุรกิจขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ จำนวน 522.86 ล้านบาท  ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารของไตรมาส 3/2565 เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม  PRM  ยังคงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน  79.1 ล้านบาทจากยอดเงินกู้ สกุลเงินตราต่างประเทศคงค้างจำนวน 40.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ณ ปลายไตรมาส 3/2565 เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2/2565  

พริมา มารีน จำกัด

แต่ยังคงสามารถชดเชยผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากเงินกู้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐได้อย่างเพียงพอ เพราะในงวด 9 เดือน 2565 PRM มีรายได้และกำไรขั้นต้น ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐหรือเงินบาทที่คำนวณจากอัตราค่าบริการที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วัน เรียกเก็บเงิน ดังนั้นกรณีที่เงินบาทอ่อนค่า รายได้และกำไรขั้นต้นส่วนใหญ่ที่มาจากเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็จะ สูงขึ้นด้วย  ซึ่ง PRM ใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนตัวโดยบันทึกเป็นรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้หากเจาะลึกไปที่แต่ธุรกิจจะพบว่า ผลการดำเนินงาน มีทั้งกลุ่มธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำและกลุ่มธุรกิจที่ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายรอบด้าน  โดยธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ มีรายได้และกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2564  จากการฟื้นตัวของภาคการ ท่องเที่ยว หลังภาครัฐมีนโยบายผ่อนคลายมาตรควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันทุก ชนิดในประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบิน ประกอบกับPRM มีเรือขนาด 5,000 ตันให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 1 ลำ 

 

อย่างไรก็ตามรายได้และกำไรขั้นต้นลดลงเล็กน้อย  เนื่องจาก PRM กลับมาใช้วิธีการตรวจเรือหลังการซ่อมบำรุงเต็มรูปแบบ แทนการตรวจแบบ On-line Inspection (ที่ใช้ระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19) ทำให้ต้องมีระยะเวลา Off-hire ของเรือ ที่ได้รับการตรวจมากขึ้น

"เรือศรีสุราษฎร์" เรือในกลุ่มธุรกิจขนส่งฯ ในประเทศ
ในส่วนของธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ  มีรายได้และกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2565 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาส 3/2564 จากการให้บริการเรือขนาด VLCC ลำที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2565 ในขณะที่ลำที่ 1 และ 2 สามารถรับรู้รายได้เต็มไตรมาส ซึ่งในสัญญาการใช้บริการ VLCCทั้ง 3 ลำเป็นสัญญาระยะยาว 10 ปีและให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง  เพราะสามารถควบคุมต้นทุนการจัดหาเรือได้ในช่วงที่ราคาตลาดยังอยู่ในระดับต่ำ

 

นอกจากนี้ผลจากการที่ PRM ทำสัญญาให้บริการเรือ Aframax แบบ Time-Charter ที่มีอัตราค่าบริการสูงขึ้นแลพผู้ว่าจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาเชื้อเพลิงด้วยตัวเองทำให้เรือ Aframax สร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นตลอดทั้งไตรมาส

 

ด้าน ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (“FSU”)  เองมีรายได้และกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2565 ปรับตัวขึ้นจากไตรมาส 3/2564 จากการเพิ่มจำนวนให้บริการอีก 1 ลำตั้งแต่ มิ.ย. 65 เพื่อตอบสนองความต้องการกักเก็บนำมันไว้ใช้ในฤดูหนาวและการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากแก๊สเป็นน้ำมันของโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภูมิภาคและการปรับเพิ่มค่าบริการตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

 

ขณะที่ธุรกิจเรือขนส่งเพื่อให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลี่ยมกลางทะเล (“Offshore Support”) มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า ไตรมาส 2/2565 เนื่องจากการการรับรู้รายได้จากเรือลำใหม่เต็มไตรมาสเมื่อเทียบกับการรับรู้ รายได้เพียง 1 เดือน ในไตรมาส 2/2565 ทำให้ในไตรมาส 3/2565 รายได้และกำไรขั้นต้นปรับเพิ่มสูงขึ้นมากจากไตรมาส 3/2564  จากการเพิ่มเรือ AWB ให้บริการอีก 1 ลำตลอดทั้งไตรมาส และการที่ PRM ประสบความสำเร็จในการเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อให้บริการเรือ Crew boat ทั้งหมด 13 ลำ แก่ปตท สผ. ภายใต้สัญญาแบบ Time Charter เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2564 ที่กองเรือ Crew boat มีอัตราการ ให้บริการ ร้อยละ 89

Prima Marine Public Company Limited

และธุรกิจบริหารจัดการเรือ  มีรายได้และกำไรขั้นต้นในไตรมาส 3/2565 ลดลงจากไตรมาส 3/2564 เนื่องจากเรือนอกกลุ่มให้บริการลดลง 2 ลำ เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 โดยจำนวนเรือให้บริการลดลงเหลือ 2 ลำตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 2565 โดยเรือที่ลดลงเป็นเรือ VLCC ที่มีอัตราการให้บริการและกำไรขั้นต้นสูงกว่าเรือขนาดเล็ก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของไตรมาส 3/2565 ลดลงเหลือร้อยละ 15.0