เปิด 5 โจทย์หินธปท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับมือกระแสโลก

14 ต.ค. 2565 | 07:46 น.

ผู้ว่า ธปท. เปิด 5 โจทย์หิน ขับเคลื่อนแผนงานปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 66 ย้ำเศรษฐกิจไทยต่างจากต่างประเทศ ต้องดูแลไม่ให้สะดุด เร่งแก้หนี้ครัวเรือนให้กลับเข้าสู่ระดับที่ยั่งยืน พร้อมรับมือกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) กำลังเป็นความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะเป้าหมายที่ตั้งร่วมระหว่างรัฐบาล ธปท. ต้องรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัวถึง  7.86% ตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เร่งตัวขึ้น

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของ ธปท.ในปลายปีนี้และแผนงานในปี 2566 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เหมือนเรือหลายลำ ดังนั้นต้องมีหางเสือหรือทิศทาง(Direction) ที่ชัดเจน เพื่อจะได้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหลายอย่างไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ทำมาอยู่แล้วต่อเนื่อง 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เริ่มต้นด้วย 1.บริบทเศรษฐกิจ ไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว แต่ฟื้นช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ปลายปีนี้หรือกลางปีหน้าจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แต่จะทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้แบบ “Smooth take off” ซึ่งความที่ไทยไม่เหมือนกับโจทย์ของต่างประเทศที่เศรษฐกิจร้อนแรง “Smooth Landing” บริบทหรือนโยบายต่างๆของไทยคือ ต้องการให้มั่นใจในการฟื้นตัวแบบ “Smooth take off”โดยไม่สะดุด

เปิด 5 โจทย์หินธปท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับมือกระแสโลก

“ปัจจัยแรกคือ เงินเฟ้อ ต้องทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงจนเกินไป ภาคการเงินยังทำหน้าที่ ไม่ก่อให้เกิดภาวะการเงินตึงตัวจนเกินไป ธปท.จึงต้องปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ “Policy Normalization” ทั้งในฝั่งการเงิน นโยบายการเงินในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป และเหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ นอกจากดูมาตรการภายในที่จะนำมใช้ จากเดิมที่เป็นเรื่องปูพรม จะปรับเป็นเฉพาะเจาะจงทั้งมิติการเงิน การปรับขึ้นดอกเบี้ย เมื่อTakeoff แล้วต้องบินต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ดร.เศรษฐพุุฒิกล่าว

 ถัดมา 2. หนี้ครัวเรือน ต้องแก้ให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับยั่งยืน ตอนนี้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงมา โดยก่อนวิกฤตโควิด-19 หนี้ครัวเรือนวิ่งประมาณจาก 50% เป็น 80%ต่อจีดีพี ซึ่งช่วงโควิด-19 หนี้ครัวเรือนขึ้นไปสูงสุดถึง 90% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 10% ซึ่งสูงไปเมื่อเทียบกับระดับที่เหมาะสมกับความยั่งยืน ซึ่งภายใต้เกณฑ์ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS)ไม่ควรจะเกิน 80% ต่อจีดีพี หากไม่ทำให้หนี้ครัวเรือนกลับสู่ระดับที่ยั่งยืน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นไปแล้ว ก็จะเกิดการสะดุดได้

 

สำหรับการแก้ปัญหนี้หนี้ครัวเรือนมี 3 องค์ประกอบคือ การทำให้ครบวงจรในทุกช่วงชีวิตของการเป็นหนี้ ตั้งแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจช่วงก่อหนี้ ช่วงระหว่างที่ก่อหนี้และสุดท้ายคือ ช่วงแก้ไขหนี้เมื่อหนี้มีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาเราไปโฟกัสช่วงสุดท้ายคือ การแก้หนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้

 

ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กลับสู่ระดับที่ยั่งยืน ก็ต้องดูแลและทำให้ถูกหลักการ ตั้งแต่การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน ไม่สร้าง Moral Hazard ไม่ทอดแห เพราะจะทำให้ขาดประสิทธิภาพ หรือไม่ควรผลักภาระหนี้ไปในอนาคต เพราะดอกเบี้ยและเงินต้นยังวิ่งอยู่ และการแก้หนี้ไม่ควรนำไปสู่คนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินและการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การลบประวัติข้อมูลเครดิต

 

3.กระแสความยั่งยืน (กรีน) ความจำเป็นตรงนี้ หากไม่ทำไทยจะไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมีตัวเลขฟ้องว่า ไทยเป็นประเทศที่จะถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) หรือการตอบโต้จากประเทศพัฒนาแล้ว มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM ) ซึ่ง 1 ใน 3 แรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร และประมาณเกือบ 50% อยู่ในภาคส่งออกประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิส์ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste)

 

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว 1 ใน 5 ของแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 12% ของจีดีพี หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจความมั่งคั่งของประเทศที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ สิ่งเหล่านี้ เป็นวัตถุประสงค์นโยบายการเงินเข้ามาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จะช่วยแก้ปัญหา

 

อีกหางเสือที่สำคัญคือ 4. Digital เป็นเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ และการสร้าง ecosystem ซึ่งเรื่องนี้ไทยไม่ได้ล้าหลัง ทั้งที่เป็น Soft infrastructure และ Hard infrastructure ซึ่งไม่ใช่สร้างเพื่อรองรับ แต่สร้างเพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เช่น ระบบบริการ Promptpay เรื่อง QR Code Standard ไทยเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนและในโลกที่มีระบบ QR Code ซึ่งจะต้องต่อยอดสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การโอนเงินข้ามประเทศ (Cross Border)เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

หางเสือที่ 5. คือ การพัฒนาองค์กรโดยใช้เครื่องมือทาง HR (HROD) เป็นเรื่องของภายในของธปท. ซึ่งการจะเปลี่ยนองค์กรที่อยู่มา 80 ปีเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่องค์กรจะต้องพร้อมเพื่อที่จะขับเคลื่อนภารกิจ 4 หางเสือ โดยมุ่งเน้นเรื่องของการทำให้สำเร็จ

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวเสริมว่า  3 หางเสือที่จะออกมาจากธปท.ได้แก่  “หนี้ครัวเรือน กระแสกรีน และ การตอบโจทย์ภาคการเงินยุคดิจิทัล” เป็นเรื่องที่ต้องลำเลียง เพราะต้องทำหลายเรื่องหลายบริบท ถ้าทำเร็วเกินไปบางเรื่องจะกระทบต่อภาคธุรกิจด้านการแข่งขัน และลูกหนี้เองจะไม่ได้รับบริการทางการเงินทั่วถึง  ขณะเดียวกันถ้าทำช้าเกินไปจะมีผลเรื่องเสถียรภาพและไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.

สำหรับเรื่องแรกหนี้ครัวเรือน วันนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ขณะเดียวกันยังมีลูกหนี้ที่เปราะบาง นอกจากการลดหนี้ปัจจุบันผ่านมาตรการต่างๆให้เป็นทางเลือกมากขึ้นแล้ว การปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ ซึ่งมีหลายมิติ ของความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ ธปท.จะออกเกณฑ์เฟสแรก ในไตรมาส1/2566 ให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเรื่องแคมเปญโฆษณาที่ไม่ไปกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดประโชยน์กับลูกหนี้

 

หางเสือที่ 2.ด้านกระแสกรีน ธปท.จะทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องนี้ให้กับภาคธุรกิจ ประชาชนและลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 บริบทคือ

  1. การวางโครงสร้างพื้นฐานของการจัดเก็บข้อมูลเรื่อง กรีนให้เป็นมาตรฐานสากล ขณะเดียวกัน ธปท.จะออกแนวทางกำหนด “นิยาม”มาตรฐาน อะไรเป็นกรีนหรืออะไรไม่ใช่กรีน หรืออะไรเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในไตรมาส 1ปี 2566  โดยจะเริ่มจากภาคธุรกิจขนส่ง และพลังงานจากนั้นจะเป็นภาคการเกษตร  อาหารและค่อยๆลำเลียงออกไปภาคอื่นๆ
  2. จะออกวิธีการ  แนวทางการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นมาตรฐานสำหรับบริษัทจดทะเบียน โดยร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และคณะกรรมการกำกับหลักหลักและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ภายในไตรมาส4 ปีนี้
  3. แนวทางออกแบบผลิตภัณฑ์มาตรฐานหรือสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะออกมาในไตรมาส 4 เช่นกัน โดยจะรวมทั้งบทบาทของผู้บริหารระดับสูง และแนวทางบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน และในส่วนของลูกหนี้เห็นความสำคัญ  

 

"เช่นวันนี้ ธปท.สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินใช่สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูหรือสินเชื่อเพื่อการปรับตัวเพื่อจะตอบโจทย์เรื่องกรีนในการปรับเปลี่ยนธุรกิจเศรษฐกิจดิจิทัล  คิดอัตราดอกเบี้ย 5%ต่อปี วงเงินต่อราย 150 ล้านบาท โดยจะสิ้นสุดโครงการเดือนเมษายน ปี 2566 แต่ในระยะยาวจะมีการวางแนวทางเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อกรีนออกมาด้วย"นายรณดลกล่าว 


สำหรับเรื่อง ดีจิทัลหรือเทคโนโลยีที่จะมาตอบโจทย์เรื่องบริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีขึ้น นอกจากลดค่าธรรมเนียมค่าบริการ ต่อไปจะต่อยอดบริการพร้อมเพย์สู่พร้อมบิซ (PromptBiz) เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้มีประวัติการชำระเงินในรูปของดิจิทัล ซึ่งจะออกมาภายในไตรมาส 2ปี 2566 โดยคาดหวัง จะมีผู้ใช้บริการ 3,000 ราย


นอกจากนี้เรื่อง Open Data ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างธนาคารในโครงการ D-Statement ผ่านช่องทางดิจิทัล  ต่อไปจะทำให้เกิดมาตรฐาน API หรือ API Standard เพื่อเชื่อมฐานข้อมูลในระบบอุตสาหกรรมธนาคารและนอนแบงก์เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่ทำเป็นรายผลิตภัณฑ์และธปท.อยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับ “Virtual Bank” ไม่มีสาขา  ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ  ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้บริการทางการเงินให้เข้าถึงบริการด้วยต้นทุนถูกคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง) ต้นปี 2566 และจะสามารถออกใบอนุญาตประมาณปี 2567

 

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า เรื่องนโยบายการเงินกับ Smooth take off นั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ค่อนข้างมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้และปี 2566 โดยประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 3.3%  ปีหน้า 3.8% ซึ่งปรับขึ้นมาจาก 1.5% เมื่อปีก่อน สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุน คาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 10 ล้านคนและปีหน้าจะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ซึ่งรวมนักท่องเที่ยวจันที่จะเข้ามาไตรมาส 4 ราว 1.8 ล้านคน 

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.
บวกปัจจัยการบริโภคภายในประเทศ  ซึ่งมีการอั้นในช่วงวิกฤติโควิด พอโควิดคลายและผ่อนคลายในมาตรการหลายเรื่อง คนออกมาใช้จ่ายแต่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว บวกกับการใช้จ่ายภาครัฐที่จะหดตัวจากแรงกระตุ้น

"เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง เป็น K-Shaped  แต่  K ขาล่างชันน้อยลง เห็นได้จากแต่ละเซ็กเตอร์ เช่น อิเล็กทรอนิกและปิโตรเลี่ยมกลับสู่ระดับก่อนโควิด  แต่เซ็กเตอร์ขนส่ง  ภาคบริการ  ท่องเที่ยวกำลังกลับมา แต่จะโยงกับรายได้ของคนที่ทำงานอยู่ในเซ็กเตอร์เหล่านี้  กลุ่มรายได้ประจำหรือ รายได้ภาคเกษตรเริ่มดีขึ้น  ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคาดว่าปลายปีจะกลับมาดีต่อเนื่องไปปี 2566"นายเมธีกล่าว

 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยที่กำลังจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เผชิญกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและพลังงาน  แต่แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเข้าใจว่า จะสูงสุดในไตรมาส 3 ของปีนี้ และค่อยๆปรับลดลงและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายประมาณกลางปี 2566 แต่อาจจะเห็นต้นทุนผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น 10% อาจจะมีการส่งผ่านผู้บริโภคในปีหน้า โดยธปท.ได้นำเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเข้ามาพิจารณาประมาณการแล้ว  

 

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานปีหน้าคาดว่า จะอยู่ที่ 2.4% สูงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งพยายามให้อยู่ใน Base Line จริงๆ และมีความเสี่ยงที่สมดุลทั้งเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขณะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และหนี้ไม่ได้มีการกระจายตัว คือ คนที่มีภาระหนี้เป็นคนที่มีรายได้น้อยบวกกับเป็นคนใช้แรงงานที่รายได้ลดลงช่วงโควิดจากการถูกปิดกิจการ และรายได้ที่หายไปนั้นรวมถึงเอสเอ็มอีด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้มาตรการดูแลที่เฉพาะเจาะจงในช่วงนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,824 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2565