AIMC ผุดไอเดียตั้งกองทุนรวมลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

14 ก.ย. 2565 | 08:36 น.

นายกสมาคมบลจ.หารือก.ล.ต.-ธปท. ศึกษาแนวทางตั้ง “กองทุนรวมเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล” สร้างเชื่อมั่น เพิ่มทางเลือกนักลงทุน ตั้งเป้าขยายฐานนักลงทุนเพิ่มแตะ 3.5 ล้านคนในอีก 4 ปีข้างหน้า พร้อมเดินหน้าวางโรดแมป ESG บนแพลตฟอร์มเดียว

 

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ภายใต้การบริหารนำของนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานนายกสมาคม AIMC เปิดเผยว่า สมาคม AIMC ได้เสนอแนวคิดการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้หารือมาแล้ว 2 ครั้งและยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับรูปแบบบ ประเภทและการจัดเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงระยะเวลาในการบริหารสินทรัพย์

AIMC ผุดไอเดียตั้งกองทุนรวมลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเห็นว่า แนวโน้มยังมีโอกาสเติบโต อีกทั้งหน่วยงานกำกับแต่ละประเทศให้ความสำคัญและมีการปรับกฎเกณ์ให้สะท้อนความเป็นจริงตามเทรนด์ของโลก ซึ่งในที่สุดอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เห็นได้จากการใช้จ่ายเงินแต่ละประเทศเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัล ประกอบกับนักลงทุนรุ่นใหม่สนใจในสินทรัพย์ดังกล่าวค่อนข้างมาก

 

ดังนั้น กองทุนรวมเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรที่จะเป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนและเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นกลาง เพียงแต่ตอนนี้สินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามายังมีน้อย โดยส่วนตัวมองว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่อย่างน้อยการเริ่มศึกษาถือเป็นการปูทางแบบค่อยเป็นค่อยไปสำหรับธุรกิจของบลจ.

 

“เราได้หารือก.ล.ต.ไป 2 รอบแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนเสนอแนะและพูดคุยกัน เพื่อหาแนวทางหลักว่า เราควรจะพิจารณาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร รูปแบบที่จะให้กองทุนสามารถลงทุนได้ควรเป็นแบบไหน ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ต้องใช้เวลาพอสมควรและหน่วยงานกำกับด้านต่างๆเห็นความสำคัญในเรื่องของดิจิทัล ซึ่งหลบยาก แต่จะอยู่อย่างไรให้แหมาะสม โดยสมาคมยังต้องหารือกับหน่วยงานกำกับอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ศึกษาความเสี่ยงหรือข้อจำกัดให้รอบคอบครอบคลุมก่อน” นางชวินดากล่าว

 

นอกจากพูดคุยกับก.ล.ต.แล้ว ทางสมาคมฯ ยังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่นกัน ซึ่งธปท.มีความกังวลต่อสินทรัพย์ดิจิทัลในประเด็นความผันผวนต่ออุตสาหกรรมค่อนข้างมาก หากการลงทุนควบคุมไม่ได้ ก็ไม่ควรจะเปิดช่องให้ทำ

 

ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงเสนอไอเดียว่า ถ้าธปท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทสไทย (ตลท.) และก.ล.ต. ต้องการให้เกิด ทุกอย่างต้องให้มีความชัดเจน รวมถึงความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าการลงทุน เส้นทางการเก็บทรัพย์สินฯลฯ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้น หากอุตสาหกรรมมีสินทรัพย์ประเภทนี้ เรื่องเหล่านี้จะต้องควบคุมให้ได้ในระดับหนึ่ง

 

นางชวินดากล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ ยังได้หารือกับกลต. เรื่องแผนขยายฐานนักลงทุนกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ขณะที่อยู่ระหว่างรอความชัดเจนกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งตอนนี้ Provident Fund มีนักลงทุนประมาณ 3 ล้านคน จากวัยแรงงานทั้งหมดเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งยังบางมาก จำเป็นต้องสร้างการเติบโตให้ได้ อีกทั้งกองทุนรวมเองที่มีนักลงทุน 1.75 ล้านคน ก็ถือว่ายังน้อยมาก เป็นการสะท้อนว่า คนไทยยังไม่มองเรื่องการออมเงิน อนาคตเมื่อสูงวัยจะไม่สามารถพยุงตัวเองได้

 

“โปรเจ็กต์ใหญ่ที่ต้องขอความร่วมมือกับทั้งธปท. ตลท. ก.ล.ต. และสมาคมฯ เพื่อทำงานร่วมกัน ดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงการลงทุนหรือการออมมากขึ้น ช่วงนี้ถือเป็นช่วงการเก็บข้อมูล โดยตั้งเป้าให้เกิดผลสำเร็จภายใน 3-4 ปีนี้และอยากเห็นฐานนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเติบโตเพิ่มเท่าตัวจากฐานนักลงทุนในกองทุนรวมที่มีปัจจุบัน 1.75 ล้านคน” นางชวินดากล่าว

 

อีกเรื่องที่เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืน ( ESG) ซึ่งในปี 2566 ทุกบริษัทจดทะเบียน(บจ.) จะเข้าสู่เกณฑ์ให้เปิดเผยข้อมูลภาคบังคับเกี่ยวกับ ESG หลังจากให้เปิดเผยข้อมูลภาคสมัครใจในช่วงที่ผ่านมาแล้ว แนวโน้มเชื่อว่า ข้อมูล ESG จะมีมากขึ้น จากความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลจะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยดูดีขึ้น

 

ในส่วนของสมาคมฯ จะเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะต้องวางโรดแมปของ ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลเรื่องนี้ให้ชัดเจนของผู้จัดการกองทุน  หรือการดึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯออกมาทำให้เป็นรูปธรรมในแต่ละเรื่อง  โดยข้อมูล เหล่านี้ผู้จัดการกองทุนมีโอกาสที่จะใช้มากขึ้น รวมถึงการนำข้อมูลดังกล่าวใช้ในการพิจารณาการลงทุนมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ESG ของไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ทั้งผู้จัดการกองทุนและหน่วยงานกำกับรวมถึงสมาคมฯต้องจูนให้ตรงกัน เพระ ESG แต่ละเซ็กเตอร์แตกต่างกัน อย่างเรื่องพลังงานก็เป็นการบำบัดน้ำเสีย หรือภาคการเงินภาคอุตสาหกรรมหรืออาหารต้องเจาะลึกให้ได้ว่า ESG จะล้อกับธุรกิจได้จริงหรือไม่ จึงอยากให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,818 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2565