ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พยุงการบริโภคโค้งท้ายปี 65 เสี่ยงกดเงินเฟ้อปีหน้า

10 ก.ย. 2565 | 05:03 น.

ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พยุงการบริโภคโค้งสุดท้ายปี 65 แต่เสี่ยงกดดันเงินเฟ้อปีหน้า : คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย ธรรมทัช ทองอร่าม ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

จากที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเตรียมนำเสนอขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เนื่องจากราคาสินค้าที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ทำให้แนวโน้มการบริโภคชะลอตัวลง

 

จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่า “การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะเป็นแรงส่งการบริโภคเอกชนให้ไปต่อได้ หรือจะดันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น” ซึ่งจะไล่เรียงการวิเคราะห์จากสถานการณ์แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนและทิศทางเงินเฟ้อว่าได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้อย่างไร

การบริโภคภาคเอกชนจะเห็นว่าเริ่มฟื้นตัวหลังจากผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศได้ โดยจะพบว่า ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) ตั้งแต่ต้นปี 2565 ไต่ขึ้นมาอยู่เหนือเส้นแนวโน้มการบริโภคเอกชน 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2558 จนถึง 2565) หลังจากปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการบริโภคชะลอตัวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก

ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พยุงการบริโภคโค้งท้ายปี 65 เสี่ยงกดเงินเฟ้อปีหน้า

โดย 6 เดือนแรกปี 2565 ดัชนีบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปี 2564 ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มแรงส่งการบริโภคภาคเอกชนไทยที่เริ่มทยอยฟื้นกลับมาในปี 2565 นี้

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนับเป็นแรงกดดันให้แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวช้าลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2565 โดยจะเห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumption Price Index: CPI) ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาส 4 ปี 2564 สาเหตุจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าวัตถุดิบ

 

ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปี 2564 เฉลี่ยกว่า 5.9% ชี้ให้เห็นถึงค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะไปลดทอนอำนาจซื้อของประชาชนให้ลดลง ทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายปี 2565 ได้

 

ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ เพื่อพยุงอำนาจซื้อของประชาชนไว้ไม่ให้ชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งกลไกลการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาขายของสินค้าดังกล่าว สามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง “การสร้างความสมดุล สู่การส่งผ่านเงินเฟ้อ”  โดยภาครัฐได้พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำในรอบ 2 ปีกว่า เป็น 3-7% จากเดิมค่าจ้างอยู่ในช่วง 313-336 บาท เป็น 328-354 บาทตามแต่ละพื้นที่ โดยจะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พยุงการบริโภคโค้งท้ายปี 65 เสี่ยงกดเงินเฟ้อปีหน้า

 

คาดว่าระดับการปรับเพิ่มของค่าแรงขั้นต่ำ 3-7% นี้ จะช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนได้บ้างในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถพยุงการบริโภคเอกชนได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยคาดว่าเงินเฟ้อด้านต้นทุนแรงงานจะยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้า อันมีสาเหตุจาก

  1. ผู้ประกอบการได้ทยอยปรับราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบสินค้าที่เพิ่มขึ้นไปแล้วในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 2565 การปรับราคาจะปรับตามต้นทุนค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทันทีนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะยังมีแรงหน่วงทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้
  2. แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) ที่เป็นวัตถุดิบของผู้ประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้ไต่ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดแล้ว อีกทั้งยังมีทิศทางเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มลดระดับลง ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรกลุ่มอาหาร ราคาปุ๋ยเคมี ราคาเหล็ก และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น แรงกดดันด้านระดับเงินเฟ้อในไตรมาส 4 ปี 2565 จะไม่มากนัก

 

 

ด้วยสองสาเหตุนี้ จะสามารถพยุงการบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงและไม่ลดระดับลงมา มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะพิจารณาปรับเพิ่มราคาสินค้าขายเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงในช่วงต้นปี 2566 เป็นประเด็นที่ภาครัฐควรติดตามและเตรียมมาตรการไว้รับมือกับผลของเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจในปี 2566 ต่อไป.