เอกชนหนุนรัฐใช้บี100พุ่งโรงกลั่นกระอักได้ผลกระทบ

22 มิ.ย. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้ผลิตไบโอดีเซลหนุนรัฐใช้บี 10 และบี 20 ชี้จะส่งผลให้ความต้องการใช้บี 100 พุ่งในปีหน้าเกือบ 5 ล้านลิตรต่อวัน ยันมีปริมาณเพียงพอไม่ไม่แย่งการบริโภค และปีหน้ามีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นอีก 10 % ขณะที่พพ.ตั้งเป้าปี 2579 ต้องส่งเสริมให้ได้ถึง 14 ล้านลิตร ด้านสถาบันปิโตรเลียมฯเตรียมศึกษาไบโอดีเซลและเอทานอลกระทบโรงกลั่นน้ำมัน ต้องส่งออกมาขึ้น

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลบี 20 (สัดส่วนไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซล 20 % ) ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ จำนวน 1 พันคัน รวมทั้งในปี 2560 จะมีการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันดีเซลเป็นบี 10 จากปัจจุบันบี 7 เพื่อเป็นทางเลือกในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งจะทำให้มีการนำไบโอดีเซลบี 100 มาใช้ผลิตมากขึ้นเกือบ 5 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่การผลิตไบโอดีเซลบี 100 จะยังสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตล้นอยู่ที่ 6 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 10 % ทั้งจากผู้ผลิตรายเดิมและรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น จึงไม่มีความกังวลว่าการส่งเสริมสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น จะไม่กระทบต่อการนำปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตไบโอดีเซล

นอกจากนี้นโยบายการส่งเสริมน้ำมันบี100 เป็นเชื้อเพลิง จะดำเนินการเข้มข้นในช่วงที่มีปริมาณปาล์มล้นตลาด แต่หากอยู่ในช่วงขาดแคลน ก็สามารถปรับลดสัดส่วน ยืดหยุ่นลงมาได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวภาครัฐมีการจัดสรรเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

นายกุศล ชีวากร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ส่งเสริมการใช้น้ำมันบี 20 ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการใช้ไบโอดีเซลเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง โดยหลังจากทดลองใช้น้ำมันบี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่แล้วพบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงไม่แตกต่างกับการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ และการเผาไหม้ระบบเครื่องยนต์สะอาดยิ่งขึ้น ช่วยลดมลภาวะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจต้องร่นระยะเวลาในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นและไส้กรองเร็วขึ้นเล็กน้อย

สำหรับการเพิ่มช่องทางใช้ไบโอดีเซลโดยส่งเสริมในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เป็นการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2558 – 2579 (เออีดีพี 2015) ที่ตั้งเป้าไว้ให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2579 เทียบกับปัจจุบันปริมาณการใช้อยู่ที่กว่า 4 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันสามารถดูดซับปาล์มน้ำมันในช่วงฤดูกาลที่ล้นตลาดได้ และยังเป็นการลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย

นายเรืองศักดิ์ ฐิติรัตน์สกุล รองผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พพ.ได้มอบหมายให้สถาบันฯทำการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง เนื่องจากพบว่าปัจจุบันยอดการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งของไทยไม่เติบโต หลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงต่ำมาก โดยเฉพาะยอดการใช้เอทานอลที่อยู่ในรูปแก๊สโซฮอล์ และการใช้น้ำมันบี100 ที่อยู่ในรูปไบโอดีเซล ที่เติบโตช้ามาก และอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการผลักดันให้ยอดการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 11.3 ล้านลิตรต่อวันในปี 2579 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.51 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 14 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4 ล้านลิตรต่อวัน โดยสถาบันฯเตรียมเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะโครงการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

นอกจากนี้สถาบันฯจะเสนอ พพ. จัดทำโมเดลเศรษฐกิจ สำหรับการชี้ให้เห็นว่าการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 85 ส่งผลดีต่อประเทศจริงหรือไม่ เนื่องจากในอนาคตหากไทยผลักดันการใช้แก๊สโซฮอล์อี85 เป็นผลสำเร็จ แม้จะส่งผลดีต่อเกษตรกร แต่จะมีผลกระทบต่อโรงกลั่นฯ ซึ่งต้องหันไปส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศแทน ขณะเดียวกันคุณภาพน้ำมันของไทยก็สูงถึงมาตรฐานยูโร4 สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ขายน้ำมันได้ยากด้วย ดังนั้นจะต้องกลับมาศึกษาผลดีเสียกันก่อน เพราะที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์อี85 มาก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559