ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 10มิ.ย. “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”ที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์

10 มิ.ย. 2568 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2568 | 03:30 น.

ค่าเงินบาทอาจชะลอการแข็งค่าถ้าราคาทองคำย่อตัวและยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทย รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวน้ำมัน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 10มิ.ย.ที่ระดับ  32.65 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.67 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงระหว่างวัน ควรจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งยังคงเป็น Two-Way risk สำหรับเงินบาท (เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นบ้าง หากราคาทองคำทยอยรีบาวด์สูงขึ้น กลับกัน หากราคาทองคำปรับตัวลงต่อ ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง)

โดยเรามองว่า หากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินทยอยกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็อาจกดดันให้ ราคาทองคำเสี่ยงย่อตัวลงเพิ่มเติมได้ ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท แม้ว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หรือบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียอาจทยอยแข็งค่าขึ้น ตอบรับความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากแรงขายสินทรัพย์ไทยโดยบรรดานักลงทุนต่างชาติ รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมัน หลังในช่วงนี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทยอยสูงขึ้น และอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ไม่ยาก หากตลาดมีความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (และคู่ค้าอื่นๆ) ส่งผลให้ดีต่อแนวโน้มความต้องการใช้พลังงาน จากภาพเศรษฐกิจโลกและบรรดาเศรษฐกิจหลักที่อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดเคยกังวล หากสถานการณ์การค้าโลกทยอยดีขึ้น 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ เพราะหากข้อมูลดังกล่าว ยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานอังกฤษที่สดใส ก็อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE หนุนให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งอาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้

การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ อย่าง เงินบาทในช่วงระยะสั้นนี้ ยังคงสะท้อนถึงภาวะความผันผวนสูงเกินปกติของตลาดการเงิน ทำให้ เราคงเน้นย้ำความสำคัญของการใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ Options และการพิจารณาใช้ Local Currency เนื่องจากบางสกุลเงิน อย่าง CNYTHB ก็มีความผันผวนที่ต่ำกว่า USDTHB อย่างเห็นได้ชัด

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.75 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวไร้ทิศทาง ในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.61-32.74 บาทต่อดอลลาร์) หลังบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป ส่งผลให้โดยรวม เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวไร้ทิศทาง ในลักษณะ Sideways

ทั้งนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะรีบาวด์สูงขึ้น จากโซนแนวรับแถว 3,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า การปรับตัวขึ้นต่อของราคาทองคำก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนเลือกจะทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง และต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันพุธนี้ รวมถึงรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้รับอานิสงส์บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของ Amazon +1.6% หลังประกาศพร้อมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขยาย Data Center สำหรับธุรกิจ AI นอกจากนี้ ราคาหุ้น Tesla +4.6% ก็รีบาวด์ขึ้น หลังปรับตัวลงแรงในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.31%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.07% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ หลายตลาดหุ้นก็ปิดทำการเนื่องในวันหยุด Whit Monday หรือ Pentecost Monday ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินยุโรปเบาบางลงจากช่วงปกติ

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ส่งผลให้ โดยรวม บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวไร้ทิศทาง แถวโซน 4.50% อนึ่ง เรายังคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงผันผวนสูงขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ อีกครั้ง หรือในจังหวะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาสดใส ทำให้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะเข้าซื้อ หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะโซนแถวระดับ 4.50% หรือสูงกว่า

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เหนือโซน 144 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 98.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 98.8-99.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ท่าทีระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด รวมถึงจังหวะย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้น ทว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกชะลอลงจากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทำให้ราคาทองคำ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 3,322 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ได้สำเร็จ

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงาน อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า BOE มีโอกาสราว 65% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในปีนี้

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจขนาดเล็ก (NFIB Small Business Optimism) เดือนพฤษภาคม ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และที่น่าสนใจ คือ ภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ถือว่า เป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจขนาดเล็ก อาจช่วยสะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้เช่นกัน

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า อย่าง จีน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.68-32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (8.47 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยค่าเงินบาทเริ่มขยับอ่อนค่าลง หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลงในช่วงเช้าวันนี้ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจยังค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนเช่นกัน หลังตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด (ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 3.2% ตลาดคาดที่ 3.5%)

ประกอบกับตลาดยังคงรอดูความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.55-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ฟันด์โฟลว์ต่างชาติ  รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับจีน