เปิดใจ “อนุสรณ์” สมัครผู้ว่า ธปท.รอบสอง มุ่งปฏิรูปนโยบายการเงิน

09 มิ.ย. 2568 | 02:19 น.

อนุสรณ์ ธรรมใจเผยเหตุผลสมัครผู้ว่า ธปท.รอบสอง มุ่งปฏิรูปนโยบายการเงิน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้สมัครเข้ารับการสรรหาตำแหน่งผู้ว่า ธปท. เปิดเผยว่า การอาสาสมัครเข้ารับการสรรหาการเป็นผู้ว่าธปท. เป็นครั้งที่สองนั้น เพื่อทำงานให้กับประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี ระบบการเงินโลก 

อีกทั้งประเทศไทยยังเผชิญความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและแรงกดดันทางด้านการเงินการคลังเพิ่มขึ้น จึงมีความมุ่งมั่นต้องการปฏิรูปภาคการเงิน นโยบายการเงิน และปรับเปลี่ยน ธปท. ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ผู้ว่า ธปท. คนใหม่ ควรสละเงินเดือนบางส่วนช่วยสังคมผ่านองค์กรต่างๆรวมทั้งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปภาคการเงิน จัดตั้งกองทุนรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์เพื่อความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ จากเงินเดือน 1.1 ล้านบาทต่อเดือน เบี้ยประชุม 4.72 ล้านบาทต่อปี

เมื่อพิจารณาถึงฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ พิจารณาระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ เงินเดือนและค่าตอบแทนของผู้ว่าธนาคารกลางของไทยสูงกว่าผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศร่ำรวยหลายประเทศทีเดียว สมควรนำค่าตอบแทนบางส่วนมาช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์      

อย่างไรก็ดี ในความจริงแล้วประเทศไทยต้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เพื่อแก้ปัญหาในมิติต่างๆ และเตรียมรับมือความท้าทายในอนาคต การปฏิรูปภาคการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจและปฏิรูปประเทศ 

ภาคการเงินต้องรับใช้ประชาชน ต้องทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมดีขึ้น แข่งขันได้ ขยายตัวได้ โดยที่ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงมีเสถียรภาพและมีผลกำไรที่เหมาะสม 

นโยบายการเงินต้องสอดประสานกับนโยบายการคลัง การบริหารหนี้สาธารณะและนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง สนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้และส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคเอกชนและภาคประชาขนนโยบายการเงินผ่านกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น(Flexible Inflation Targeting) 

 

โดยกรอบเป้าหมายควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพลวัตเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจโลกอย่างเท่าทันโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อเป้าหมายหรือหลักเกณฑ์มากเกินไปจนขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  

ดำเนินนโยบายการเงินให้เกิดความสมดุลมากขึ้นระหว่างการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ใช้นโยบายดอกเบี้ยควบคู่มาตรการเงินอื่นๆในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น ลดภาระหนี้ให้ประชาชนและภาคเอกชนโดยมีเป้าหมายให้ 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาอยู่ที่ระดับ 70% ในปี พ.ศ. 2572 และทำให้โครงสร้างทางการเงินของภาคธุรกิจไทยเข้มแข็งขึ้น บริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพและส่งเสริมภาคส่งออกภาคท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการสื่อสารนโยบายการเงินเพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาวของนโยบายการเงินโดยไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้งกับหน่วยงานทางเศรษฐกิจอื่นๆ 

และไม่ให้ลดทอนความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. เปลี่ยนแปลงการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศด้วยการกระจายความเสี่ยงของการถือครองหรือการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆเพิ่มมากขึ้นจากความผันผวนของดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่มีความเสี่ยงทางด้านมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมให้เงินบาทเป็นทางเลือกในการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของดอลลาร์สหรัฐและเพิ่มบทบาทเงินบาทในตลาดการเงินภูมิภาค