พักรบใหญ่สหรัฐฯ-จีน แต่ศึกไทยยังไม่จบ เกมเจรจาภาษีเดิมพันใหม่ GDP ไทย

13 พ.ค. 2568 | 08:06 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2568 | 08:06 น.

ไทยเสี่ยงเสียเปรียบคู่แข่ง หากไม่เร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวั่นถูกเก็บภาษีนำเข้าสูง ฉุดจีดีพีเหลือไม่ถึง 1% ท่ามกลางการท่องเที่ยวที่ยังซบเซา

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากกรณีพักรบระหว่างสหรัฐฯและจีนจำเป็นต้องดูว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะได้เจรจากับสหรัฐฯ ได้เมื่อใด เพราะหากท้ายที่สุดแล้วไทยถูกภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 36% ขณะที่ประเทศอื่นมีภาษีที่ต่ำกว่าไทย

จะส่งผลทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยร่วมด้วย โดยมีการคาดการณ์กันว่าหากประเทศไทยเผชิญภาษีในอัตราที่สูงมากกว่า 37% จะทำให้เศรษฐกิจไทยท้ายที่สุดแล้วขยายตัวเพียง 0.7%

ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวของไทยก็เริ่มเผชิญกับปัจจัยกดดันจากการเดินทางเข้ามาที่ลดลงของนักท่องเที่ยวจีน โดยจำนวนชาวจีนเดินทางมาไทยลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 2 เดือนติดต่อ และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น (อาหารและโรงแรม)

ทั้งการส่งออกที่จะแย่ลงและการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงขาลง ซึ่งหากเป็นที่ตลาดหุ้นเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว ผ่านกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/68 โดยเฉพาะกลุ่มอิงการบริโภค (HMPRO CPAXT) และน่าจะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างมีนัยยะในช่วงไตรมาส 2/68 ทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และเศรษฐกิจ

"ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เสนอแนะจึงลงน้ำหนักไปที่ภาครัฐเป็นสำคัญ การพิจารณารายละเอียดของเงื่อนไขอย่างถี่ถ้วนนั้นเป็นเรื่องที่สมควร แต่ก็ต้องรีบเร่งเจรจากับทางสหรัฐฯ ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการคาดการณ์ทิศทางและกลยุทธ์เศรษฐกิจไทยต่อไป"

วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า จาก สหรัฐฯ-จีน เห็นพ้องปรับลดภาษีการค้าลง 115% เหลือ 30% และ 10% ข้อตกลงชั่วคราวมีผล 90 วัน

โดยผลการเจรจาถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดและใช้เวลาสั้นกว่าที่ตลาดประเมิน ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้าขาเข้าจากจีน 30% ขณะที่จีนจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 10% ข้อตกลงมีระยะเวลา 90 วัน โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดทำข้อตกลงในวงกว้างมากขึ้น

ขณะที่รมว.คลังสหรัฐฯ ยืนยันทั้งสองฝ่ายไม่ปรารถนาการแยกตัวทางเศรษฐกิจ แม้สหรัฐฯ ยืนยันจะแยกตัวเฉพาะส่วนในสินค้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งท่าทีและผลการเจรจาดังกล่าวเป็นบวกกับทิศทางเศรษฐกิจโลก และสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งนี้ ผลการเจรจาเป็นอัพไซด์ต่อเศรษฐกิจไทยและโลก โดยระดับภาษี 30% ของจีนจะกลายเป็นเพดาน

ทำให้ภาษีการค้าของประเทศอื่นๆ คาดจะลดลงเหลือระดับ 15-20% ในส่วนของไทยก็คาดการณ์ว่าเพดานภาษีอาจอยู่ที่ระดับราว 10-15% จากก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ ตั้งไว้เต็มกำลังที่ 37% โดยหากลงมาอยุ่ในระดับที่กล่าวข้างต้นก็คาดว่า GDP ไทยอาจอยู่ที่แถว 1.3 - 2% ก็จะทำให้น้ำหนักการเติบโตมาใกล้ฝั่ง 2% มากขึ้น

"หากว่าการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ เป็นผลทำให้เพดานภาษีนำเข้าลงมากเหลือราว 10 - 15% จากเดิม 37% ก็มองว่ายังอยู่ในเกณฑ์ทที่ไม่สูงเกินไป และยังสามารถแข่งขันได้ ทำให้มีความโน้มเอียงว่า GDP ไทยจะขยับขึ้นมาใกล้ฝั่ง 2% มากขึ้น แต่หากว่าการคิดภาษีของสหรัฐฯ ต่อไทยสูงมากกว่า +10% GDP ไทยก็อาจเหลือเพียง 0.5-1% เท่านั้น" 

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ประมาณการกำไรถูกปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาเฉลี่ย 15% สะท้อนการปรับลด GDP และ NIM) ขณะที่เป็นลบต่อกลุ่มการเงิน จากโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะสั้นที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ จากความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดูผ่อนคลายลง ทำให้ความกังวลต่อการถดถอยของเศรษฐกิตโลกก็ดูเบาลงมาก ความสนใจในการลงทุนยังสินทรัพย์เสี่ยงก็มีมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปสิ่งที่น่าจับตาที่สุดคือความชัดเจนของการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด และสำคัญที่สุดคือต้องเร่งมือในการเจรจาเพื่อหาบทสรุปให้ได้เร็วที่สุด ยิ่งยืดเยื้อยิ่งไม่ดีต่อเศรษฐกิจไทย