ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 10ก.ย. 2567 ที่ระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.96 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงได้
ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และเราจะมั่นใจได้มากขึ้นว่า เงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (ซึ่งจะเป็นการยืนยันสัญญาณเชิงเทคนิคัลของการกลับตัวอ่อนค่าลง หากประเมินจากกราฟรายวันของ USDTHB) อนึ่ง ในช่วงวันนี้
เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ในช่วง 34.10-34.20 บาทต่อดอลลาร์)
ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่แถว 33.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 33.50 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงวันพุธนี้ ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนและอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ราว 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ที่ตลาดจะรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ
เนื่องจากปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจไม่รีบลดดอกเบี้ย เท่ากับบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ โดยเฉพาะเฟด (The Most Hawkish Major Central Banks) ซึ่งมุมมองดังกล่าว ได้ช่วยหนุนให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ดังนั้น หากข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวของตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของ BOE ซึ่งอาจกดดันเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง
เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ
การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.00 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.83-33.98 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ
ทรงตัวเหนือระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ นอกจากนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้อ่อนค่าเข้าใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +3.5%, Tesla +2.6%
ทว่า ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +1.17% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.16%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.82% หนุนโดยบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และอาจส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว -250bps จนถึงสิ้นปีหน้า และ
เฟดอาจจบรอบการลดดอกเบี้ยที่แถว 3.00% ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.70% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดทยอยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (มองว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยมากเท่าที่ตลาดประเมิน) ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ของเฟด (Dot Plot)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยมีทั้งจังหวะอ่อนค่าลง สลับแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ รวมถึงการโต้วาทีระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน และโดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 101.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.5-101.7 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ตามจังหวะปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยราคาทองคำยังพอทรงตัวแถวระดับ 2,536 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จากรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports & Imports) เดือนสิงหาคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานของอังกฤษ โดยเฉพาะในส่วนของอัตราการเติบโตของค่าจ้าง และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ซึ่งหากตลาดแรงงานอังกฤษส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้นชัดเจน ก็อาจเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะสามารถเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.88-33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.32 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อคืนที่ผ่านมาที่ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าเช่นเดียวกับค่าเงินเอเชียอื่นๆ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ประคองการฟื้นตัวตามจังหวะแรงซื้อคืนต่อเนื่องเพื่อปรับโพสิชันของนักลงทุนท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลง เนื่องจากตลาดยังรอติดตามรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.80-34.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชีย ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนส.ค. ของจีน รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่