เจ้าหนี้ต้องรู้ ลำดับการ "ชำระหนี้คืน" เมื่อบริษัทล้มละลาย

23 ธ.ค. 2566 | 12:41 น.

เจ้าหนี้ต้องรู้ ลำดับการ "ชำระหนี้คืน" เมื่อบริษัทล้มละลาย ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะยึดอายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด แล้วชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ ใครได้ก่อน หลัง

"การล้มละลาย" ของบริษัทต่างๆ มักปรากฎให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโดยมากบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือการดำเนินธุรกิจ มักเลือกวิธียื่นขอ "ฟื้นฟูกิจการ" ก่อน เพื่อเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

โดยเมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ บริษัทจะเข้าสู่สภาวะการพักการชำระหนี้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay ทันที 

จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด (การล้มละลาย)

"การล้มละลาย" หรือ การถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ คือการที่ศาลมีคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ นำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัด และนำมาขายทอดตลาด ดังนั้นธุรกิจที่มีคำสั่งศาลให้ล้มละลาย จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

โดยเจ้าหนี้ ที่จะได้รับการชำระหนี้คืน หลังจากบริษัทมีสถานะล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยึดหรืออายัดทรัพย์ และนำมาขายทอดตลาดแล้วนั้น จะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ดังนี้

อันดับที่ 1 ตราสารหนี้มีประกัน

หมายถึง ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน เป็นหลักประกัน ทำให้ผู้ถือตราสารหนี้นั้นมีสิทธิเรียกร้องเหนือสินทรัพย์นั้น

อันดับที่ 2 ตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ

หมายถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้คืน โดยผู้ถือตราสารหนี้ชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออก

ลำดับการชำระหนี้คืน เมื่อบริษัทล้มละลาย

อันดับที่ 3 ตราสารหนี้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ

หมายถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้กำหนดให้มีหลักประกันเพื่อการชำระหนี้คืนและผู้ถือมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์และเจ้าหนี้ทั่วไป หรือกล่าวได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกแต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย

อันดับที่ 4 หุ้นสามัญ

หมายถึง ผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบได้กับเจ้าของกิจการมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย