เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 26พ.ค.ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์

26 พ.ค. 2566 | 00:42 น.

เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อ นักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามการประชุมกนง.ของไทยในวันพุธหน้า

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 26พ.ค.2566ที่ระดับ  34.75 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.60 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน    พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

 

เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ในวันนี้ แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่ได้รุนแรงมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ หรืออาจไม่ได้อ่อนค่าจนทะลุระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ไปไกลมาก หรืออาจติดอยู่ในโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์

 

ยกเว้นว่าจะมีแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติที่รุนแรง ซึ่งเรามองว่า บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอจับตาการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมถึงรอติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในวันพุธหน้า

 

ซึ่งในส่วนของการประชุม กนง. นั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า กนง. มีโอกาสส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนอาจสูงกว่าระดับ 2.00% ที่เคยประเมินกันไว้ เช่น ระดับ 2.25% ทำให้ ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทยหลังจากที่บอนด์ยีลด์ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนมุมมองดังกล่าวไปแล้วพอสมควร

 

นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านในการขายทำกำไรสถานะ Short THB และผู้เล่นบางส่วนก็อาจเริ่มกลับมา Long THB บ้าง (แต่ยังคงไม่เยอะมาก จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการเมืองไทย หรือแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งต้องรอจับตาผลการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน)

 

นอกจากนี้ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า โดยเฉพาะหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน เราประเมินว่า แนวรับของเงินบาทก็อาจยังคงอยู่ในช่วง 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน

 

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80บาท/ดอลลาร์

 

แม้ว่าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ มีโอกาสที่จะยืดเยื้อและกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกที่ออกมาดีกว่าคาด

 

รวมถึงแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia +24.4% ซึ่งประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าคาดจากแนวโน้มธุรกิจที่ใช้ AI ทำให้หุ้นในธีมการลงทุนเกี่ยวกับ AI ต่างปรับตัวขึ้น อาทิ AMD +11.2%, Microsoft +3.9%

 

 อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (ExxonMobil -1.8%, Chevron -1.7%) ตามการปรับตัวลงแรงของราคาน้ำมันดิบ ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.7% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.88%

 ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พยายามรีบาวด์ขึ้น ก่อนที่จะปิดตลาด -0.32% กดดันโดยการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies -3.3%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า -3% จากการที่ทางการรัสเซียประกาศไม่สนับสนุนการลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมโดยกลุ่ม OPEC+

 

รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจาก การปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML +5.0%) ตามกระแสการลงทุนในธีมการลงทุนเกี่ยวกับ AI

 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างยังคงสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้ สู่ระดับ 3.82%

 

ส่งผลให้กรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจขยับขึ้นมาเป็นโซน 3.70%-3.90% ซึ่งเราคงมองว่า หากไม่มีปัจจัยหนุนชัดเจน เช่น เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวควรเป็นไปอย่างจำกัดและผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ต่างก็รอเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น (Buy on Dip)

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.2 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกได้

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นบางส่วนก็เลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

 

เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์  หลุดจากโซนแนวรับของราคาทองคำในระยะสั้นแถว 1,960 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มราคาทองคำอาจยังคงทยอยซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ จะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งผู้เล่นในตลาดมองว่าอาจอยู่ที่ระดับ 4.3% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจทรงตัวที่ระดับ 4.6%) โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนมิถุนายนได้

 

(แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25%) อนึ่ง ปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้ (Debt Ceiling) อย่างใกล้ชิด

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็รอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะถัดไป

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.67-34.69 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (10.00 น.) หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง และยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนในระหว่างวันตามสัญญาณฟันด์โฟลว์ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี อาทิ ข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 1/66 ที่ปรับทบทวนขึ้นมาที่ 1.3% ต่อปี (ตัวเลขประกาศรอบแรก และที่ตลาดคาดอยู่ 1.1%)  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.65-34.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดยังคงรอติดตามสถานการณ์การเมืองไทย สัญญาณฟันด์โฟลว์ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคเดือนพ.ค.