บลจ.กสิกรไทย แนะเบรกลงทุนกองทุนหุ้นสหรัฐ

15 มี.ค. 2566 | 00:49 น.

บลจ.กสิกรไทย ยันไม่มีการลงทุนโดยตรงใน SVB แต่ลงทุนทางอ้อมสัดส่วนน้อย ย้ำกองทุนได้รับผลกระทบน้อยมาก มองวิกฤต SVB ล้มอยู่ในวงจำกัด แนะชะลอลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ ด้านสมาคม บลจ.ยันไม่พบกองทุนไทยลงทุนโดยตรงใน SVB เอี่ยวน้อย

 

จากประเด็นข่าว Silicon Valley Bank (SVB)  ถูกรัฐบาลสหรัฐฯสั่งปิด และเข้าควบคุมกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องนั้น

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) ขอแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่า บลจ.กสิกรไทยไม่มีการลงทุนตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลักในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบน้อยมากและผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น
 

ทั้งนี้ ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงมีความผันผวนและได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาคธนาคารของสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะเข้ามาดูแลปัญหาของ SVB ได้อย่างรวดเร็วแล้วก็ตาม ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ดี บลจ.กสิกรไทย ประเมินว่าเหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะไม่ลุกลามและอยู่ในกรอบจำกัด โดยอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกได้ในระยะสั้น แต่มองว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนในระยะยาว

บลจ.กสิกรไทย แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณาหรือชะลอการลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยประเมินสถานการณ์ก่อนการลงทุน ส่วนกองทุนหุ้นเอเชีย กองทุนหุ้นจีน และกองทุนหุ้นไทย รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ ยังคงเข้าลงทุนได้
 

สมาคม บลจ. ยันไม่พบกองทุนไทยลงทุนโดยตรงใน SVB 


ด้านสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน (AIMC) ได้มีการตรวจสอบกองทุนในภาพรวมในเบื้องต้น โดย นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย ในฐานะนายก AIMC กล่าวก่อนหน้านี้ว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทุกกองไม่มีการลงทุนโดยตรงในหุ้นของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) 

แต่กองทุนต่าง ๆ ที่มีการลงทุนในสหรัฐ ทั้งหมดเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศหรือกองทุนหลัก ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ SVB คิดเป็นสัดส่วนราว 1-2% ณ สิ้นปี 2565 เท่านั้น

แม้ปัญหา SVB เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบในแง่ sentiment และไม่น่าจะส่งผลกระทบระยะยาว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

"มองเหตุการณ์ SVB ล้ม ไม่น่าจะมีผลกระทบ นอกจากนี้ปัญหา SVB ไม่ใช่แบงก์ขนาดใหญ่เหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2551และเน้นการปล่อยกู้ให้กลุ่มสตาร์อัพเป็นหลัก  เชื่อว่าแต่ละ บลจ.มีมาตรการดูแลรับผิดชอบหากเกิดปัญหาขึ้นอยู่แล้ว"