เอกชนห่วง "SVB" ล้มบานปลายกลายเป็นวิกฤตใหญ่

13 มี.ค. 2566 | 09:08 น.

เอกชนห่วง "SVB" ล้มบานปลายกลายเป็นวิกฤตใหญ่ โดยเฉพาะแบงก์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐและประเทศอื่น ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังส่งสัญญาณจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีล่าสุดที่ธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ (SVB)  ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกาต้องปิดตัวลง ว่า  กระทรวงการคลังและทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (FED) ได้ยืนยันประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ SBV รวมถึงธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ในรัฐนิวยอร์กซึ่งถูกสั่งปิดไปแล้วนั้น สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวน

ขณะที่เฟดจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB  ถือเป็นสัญญาณที่ดี จึงต้องติดตามใกล้ชิดว่าภาพรวมจะมีทิศทางอย่างไร 
 

อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินของไทยโดยเฉพาะภาคธนาคารมีความแข็งแกร่งสะท้อนจากกำไรที่สูง เนื่องจากมีบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้มีความระมัดระวังในการบริหารงาน  

สำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น สิ่งที่กังวลมาตลอดและยังคงต้องติดตามต่อไปคือ การที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องซึ่งจะมีผลให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) มากขึ้นและจะกระทบต่อประเทศเกิดใหม่ที่มีฐานะการคลังอ่อนแอคิดเป็น 1 ใน 3 ของทุกประเทศทั่วโลก

ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้จะเห็นถึงกระทบภาคส่งออกมาตั้งแต่เดือนต.ค.65 จนถึงม.ค.66 ที่การส่งออกมีมูลค่าติดลบต่อเนื่องจึงทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)ต้องลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมโต 1-2% เป็น 0 ถึง -1% จากปีก่อน ดังนั้นการส่งออกของไทยครึ่งปีแรกจึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลงไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 

“การล้มลงของSVB ระยะสั้นอาจทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวน และหลายคนมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ดังนั้นต้องดูนโยบายที่สหรัฐออกมาว่าจะสามารถสกัดกั้นการลุกลามเป็นโดมิโนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ได้หรือไม่ในระยะต่อไป  โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายกังวลคือแบงก์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐและประเทศอื่นๆ ท่ามกลางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังคงส่งสัญญาณจะขยับดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่อาจไปแตะระดับ  5.25-5.50 % ”