ผ่าโมเดลธุรกิจ ‘Liberator’ โบรกเกอร์น้องใหม่ คอมมิชชั่น 0%

22 ม.ค. 2566 | 02:59 น.

เปิดโมเดลธุรกิจ “บล.ลิเบอเรเตอร์” ดิจิทัลโบรกเกอร์น้องใหม่ กับจุดแข็ง “นวัตกรรมการเงิน” และโครงสร้างรายได้ ตอบโจทย์ “คอมมิชชั่น 0%”

 

ชื่อของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ เป็นที่กล่าวถึงในวงการนักลงทุนและโบรกเกอร์ จากการประกาศจุดยืนความเป็น ดิจิทัลโบรกเกอร์ 100% ด้วยการชูจุดแข็ง “ไม่มีค่าคอมมิชชั่น” ก่อให้เกิดคำถามถึง “โมเดลธุรกิจ” ?

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จะพามาให้รู้จัก บล.ลิเบอเรเตอร์ โบรกเกอร์น้องใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ( NEWS ถือหุ้น 100% ) โดยการรับโอนสิทธิการเป็นสมาชิก
จาก บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เพื่อประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยเน้นการให้บริการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

นางสาว ภาวลิน ลิมธงชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายเป็น “ดิจิทัลโบรกเกอร์” เพื่อเป็นโบรกเกอร์ทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ ที่ซื้อขายด้วยตัวเองอยู่แล้ว ได้เทรดผ่านทางแอปพลิเคชั่น Liberator เท่านั้น โดยชูจุดแข็ง ค่าคอมมิชชั่น 0%

“จุดแข็งแอปพลิเคชั่น Liberator เป็นบิสซิเนสโมเดล ที่ไม่ได้เก็บค่าคอมมิชชั่นต่อธุรกรรม ด้วยมายด์เซ็ทที่เป็น “ดิจิทัลโบรกเกอร์” ไม่มีสาขา ลูกค้าเทรดเองทำเอง ไม่ได้มีต้นทุนของผู้แนะนำการลงทุนที่มากเหมือนโบรกอื่นๆ จึงปรับตัวได้เร็ว เราตั้งใจว่าจะไม่หยุดด้วยการเป็นเพียงแค่บริษัทหลักทรัพย์ที่มีเพียงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพียง หุ้นหรือ TFEX เท่านั้น เราจะเพิ่มนวัตกรรมการเงินอื่นๆ เข้ามาในแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบโจทย์ความเป็น Social Investing Platform ให้มากขึ้น และเป็นการสร้างรายได้ให้กับโบรกของเรา

โดยโปรดักต์ตัวแรกที่จะเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์และสร้างรายได้ให้เราตัวแรกคือ P2P Lending ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชั่น “StockLend” ให้บริการธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลและบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รายแรกในประเทศไทยที่ได้รับการกำกับโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเป็นแอปพลิเคชั่นที่เชื่อมต่อระหว่างนักลงทุนกับผู้ขอสินเชื่อ โดยใช้หุ้นใน SET 100 เป็นหลักประกันสินเชื่อ ซึ่งมีลิเบอเรเตอร์เป็นผู้รับจำนำหลักทรัพย์และดูแลธุรกรรมการโอนเงิน” นางสาวภาวลิน กล่าวและว่า

“การจะยกเลิกค่าคอมมิชชั่น 0% นั้นจะมีอย่างน้อย 1 ปี แล้วโมเดลธุรกิจของเราหลังจากนั้นยังคงคอนเซ็ปต์ไม่เก็บค่าคอมต่อธุรกรรม แต่อาจมาในรูปแบบของการเก็บค่าสมาชิกรายปี ที่ต้องมั่นใจในการสร้างความคุ้มค่าให้ลูกค้าโดยจะเพิ่มเติมในส่วนของสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่ได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ย Margin ที่ถูกลง สิทธิร่วมงานสัมมนาการลงทุนคอร์สเรียนจากทางลิเบอเรเตอร์และพาทเนอร์และอื่นๆ” 
 

เพิ่มลูกค้า 5 หมื่นรายปีแรก
 

ส่วนเป้าหมายในขยายฐาน นางสาวภาวลิน กล่าวว่า ปัจจุบันบัญชีที่มีการซื้อขายหุ้นทางออนไลน์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2 ล้านบัญชี จำนวนนี้เป็นบัญชีที่ซื้อต่อเดือน หรือ Monthly Active User (MAU) ประมาณ 5-7 แสนราย บริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย 2 ทางคือ หาลูกค้าจากยอด MAU 10% อย่างต่ำ 50,000 รายในสิ้นปี 2566

และสองเพิ่มนักลงทุนหน้าใหม่เข้าตลาด โดยปัจจุบันประชากรไทยที่มี 70 ล้านคนและยอดบัญชีออนไลน์นับไม่ซ้ำรายมีเพียงสองล้านบัญชี ยังมีโอกาสอีกมาก โดยหลังบริษัทฯเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มกราคม 2566 คาดจะมีผู้สมัครเข้ามามากขึ้น รวมถึงการขยายฐานผ่านคอร์สเรียนต่างๆ ทางออนไลน์ และออฟไลน์ ในลักษณะ คอมมูนิตี้ โดยทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ต่างๆ

 

กางแผนธุรกิจ
 

ซีอีโอ “ลิเบอเรเตอร์” เผยแผนธุรกิจของบริษัทปีนี้ ไตรมาสแรกเดือนมกราคม จะให้บริการซื้อขาย “หุ้น กับ TFEX” และในเดือนกุมภาพันธ์ จะให้บริการ P2P lending  (ถือหุ้นโดย NEWS และ AQUA สัดส่วน 40 : 60 ตามลำดับ) โดยที่บริษัทฯ จะมีรายได้จากการเป็นคัสโตเดียน (ดูแลรับฝากสินทรัพย์ให้ลูกค้า) โดยใช้หุ้นใน SET 50/ SET 100 เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ให้วงเงินสินเชื่อ 30-50% ของมูลค่า LTV

ไตรมาส 2- 3 เปิดให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin loan ),การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ( FA ), ผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) มีลูกค้าที่ “ลิเบอเรเตอร์” เป็นลีดอันเดอร์ไรท์ในมือแล้ว 1 รายคาดจะเปิดตัวดีลนี้ได้ไตรมาส 2 ปีนี้ และในไตรมาส 4 จะเปิดให้บริการกองทุนรวม ซื้อขายหุ้นต่างประเทศ 

 

“มาร์จิ้น- P2P”รายได้หลัก 
 

สำหรับ โครงสร้างรายได้หลักของ “ลิเบอเรเตอร์” ปีแรกจะมาจาก “มาร์จิ้นโลน” และรายได้จากการให้บริการ P2P lenging ส่วนรายได้จากกองทุนหรือการซื้อขายหุ้นต่างประเทศจะเข้ามา ปลายปีหรือไตรมาส1/2567 มากกว่า

“แผน 3 ปี ( 2566-2568 ) สองปีแรกเป็นปีการลงทุน การทำตลาดเพื่อให้ผู้ลงทุนรู้จักเรามากที่สุด ซึ่งลิเบอเรเตอร์มีแผนที่จะขยายรายได้จากฐานลูกค้าอยู่แล้ว คาดว่าปีที่ 3 รายได้น่าจะครอบคลุม operating cost ต่อเดือน” 

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,855 วันที่ 22 - 25 มกราคม พ.ศ. 2566