กรุงไทย จับตาแบงก์ส่งผ่านต้นทุน หลังนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูสู่ระดับ 0.46%

14 ธ.ค. 2565 | 08:10 น.

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จับตาความสามารถชำระหนี้ หลังธปท.ปรับอัตรานำส่งเงิน FIDF สู่ระดับปกติ 0.46% ต่อปี ดันต้นทุนการเงินธนาคารเพิ่มกว่า 4 หมื่นล้านบาท คาดแบงก์ส่งผ่านสู่ดอกเบี้ยเงินกู้ M Rate เฉลี่ย 0.4-0.6%

นายชัยสิทธิ์  อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ 0.46% เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อช่วยลดต้นทุนระบบธนาคารพาณิชย์ และธนาคารได้ส่งผ่านไปยังลูกหนี้โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ตระกูล M-Rate) ลง 0.4% ในคราวเดียว

 

กรุงไทย จับตาแบงก์ส่งผ่านต้นทุน หลังนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูสู่ระดับ 0.46%

เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท. เห็นถึงความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยในระบบจะต้องปรับขึ้น และมาตรการผ่อนคลาย FIDF fee จะกลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2566

 

ทั้งนี้ ในภาวะปกติ สถาบันการเงินจะต้องนำส่งเงินสมทบให้แก่ ธปท. เพื่อเข้าบัญชีสะสมสำหรับการชำระคืนต้นเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายของกองทุน FIDF ในอัตรา 0.46% ต่อปีจากฐานเงินฝาก

 

ซึ่งเป็นแหล่งเงินหลักในการชำระหนี้กองทุน FIDF โดยในปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2561-กันยายน 2562) ก่อนเกิด COVID-19 สถาบันการเงินได้นำส่งเงินสมทบแก่ ธปท. จำนวน 6.38 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยของกองทุนฯ

กรุงไทย จับตาแบงก์ส่งผ่านต้นทุน หลังนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูสู่ระดับ 0.46%

หลังจากที่ ธปท.ผ่อนคลายโดยการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนกราคม 2563 ทำให้ยอดเงินนำส่งจากสถาบันการเงินในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ลดลงจากปีงบประมาณ 2561 เหลือเพียง 4.6 หมื่นล้านบาท และ 3.5 หมื่นล้านบาท

กรุงไทย จับตาแบงก์ส่งผ่านต้นทุน หลังนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูสู่ระดับ 0.46%

ดังนั้น Krungthai COMPASS ประเมินว่าการสิ้นสุดมาตรการลด FIDF fee จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลุ่ม M-Rate ที่อาจจะเพิ่มขึ้นราว 0.4-0.6% ได้ในคราวเดียว

กรุงไทย จับตาแบงก์ส่งผ่านต้นทุน หลังนำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูสู่ระดับ 0.46%

อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการปรับ FIDF Fee และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ภาคธุรกิจและประชาชนจะมีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและรายย่อยที่จ่ายดอกเบี้ยอิงกับอัตราดอกเบี้ย MRR ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนรายลูกค้ารวมกันสูงถึง 91%

 

แม้ ธปท. จะต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในระบบเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องไปกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แฝงมากับความสามารถในการชำระหนี้ที่ยังเปราะบาง

 

ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้จะสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับอัตราเงินนำส่ง FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ฉะนั้น ผู้ที่มีภาระผ่อนจ่ายจากการกู้เงินจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในแง่การวางแผนการใช้จ่าย ลดหนี้สิน และบริหารการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

 สำหรับธนาคารพาณิชย์เอง ก็จะให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ และลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อให้สามารถกลับมาพลิกฟื้นและเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งให้ความสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคธุรกิจในการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับบริบทโลกใหม่และเติบโตได้อย่างยั่งยืน