BBL ตั้งเป้าสินเชื่อปี 66 โต 1.5% ของจีดีพี

04 พ.ย. 2565 | 07:49 น.

แบงก์กรุงเทพ หรือ BBL เผยลงาน 9 เดือน สินเชื่อโต 8.1% ตั้งเป้าทั้งปีโต 4-6% เอ็นพีแอลไม่เกิน 4.0% NIM อยู่ที่ 2.1% ประมาณการตั้งสำรอง(ECL)จะอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 66 ไม่เน้นหวีอหวา คาดแนวโน้มสินเชื่อโต 1-1.5 เท่าของจีดีพี ที่คาดว่าจะขายตัว 2-3%

ภาพรวมผลงานงวด 9 เดือนของธนาคาร กรุงเทพ หรือ BBL พบว่า มีเงินให้สินเชื่อ 2.79 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.1% จากสิ้นปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ มีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่ระดับ 3.5% วงเงิน 1.07 แสนล้านบาทและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) 2.28% โดยปีนี้ BBL ตั้งเป้าสินเชื่อโต 4-6% เอ็นพีแอลไม่เกิน 4.0% NIM อยู่ที่ 2.1% ประมาณการตั้งสำรอง(ECL)จะอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้าน

 

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BBL)เปิดเผยว่า ในแง่ต่างประเทศที่มีภาวะความไม่แน่นอนสูง แต่กลุ่มประเทศในอาเซียนยังมีการเติบโตได้ดี และธนาคารกรุงเทพค่อนข้างโชคดีที่มีสาขารองรับในต่างประเทศที่ธนาคารอยู่มานาน ทำให้ลูกค้าไทยส่วนใหญ่ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศเลือกใช้บริการกับธนาคารกรุงเทพ

BBL ตั้งเป้าสินเชื่อปี 66  โต 1.5% ของจีดีพี

 

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศ หลังจากซื้อธนาคาร Permata ในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25% จากเดิมอยู่ที่ 17% ซึ่งปีหน้าธนาคารให้น้ำหนักการเติบโตสินเชื่อภายในประเทศ ขณะที่สัดส่วนต่างประเทศยังอยู่ในสัดส่วน 24-25% โดยทิศทางปี 2566 ธนาคารไม่เน้นความหวือหวา แนวโน้มการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 1-1.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) บนสมมติฐานการเติบโตของจีดีพีที่ 2-3% โดยมองว่า อุตสาหกรรมการผลิตและเทรดดิ้งทั้งการนำเข้าและส่งออกและพลังงานทางเลือกยังมีโอกาสอีกมาก

 

นายไชยฤทธิ์กล่าวว่า ในจีนลูกค้าหลักยังเป็นธุรกิจรายใหญ่ สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมีน้อยมาก สัดส่วนต่ำกว่า 1% และธนาคารไม่ขยายสินเชื่อใหม่เน้นดูแลลูกค้าเก่าที่มีอยู่ ซึ่งในแต่ละปีธนาคารจะมีการกำหนดเป้าหมายการเติบโตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับด้านอาหาร หรือเกี่ยวกับชีวิตประจำวันด้านปากท้อง

 

ที่สำคัญธนาคารเน้นเรื่องการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, และ Governance: ESG) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทุกประเทศรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้น้ำหนักเรื่อง ESG เห็นได้จากสปป. ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศต่างๆเหล่านี้ มีความก้าวหน้า ESG ไปมาก ส่วนหนึ่งภาครัฐจะมีแคมเปญในการลงทุนและมี Incentives ต่างๆ โดยธนาคารกรุงเทพจะเน้นอุตสาหกรรมที่มีเทรนด์  ESG เป็นพิเศษ

 

แบงก์กรุงเทพมีนโยบายชัดเจนที่จะช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัว ไม่ว่าในรอบปีที่ผ่านมาหรือปีต่อๆ ไป โดยสนับสนุนลูกค้าให้ลงทุนเพื่ออนาคต โดยเฉพาะรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเผชิญความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ให้สามารถปรับตัว ธุรกิจรายใหญ่นั้นมีสายป่าน เริ่มมีการลงทุนและปรับตัวสู่ New Normal รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าเก็บเล็กผสมน้อย ตั้งแต่ตอนนี้จะเป็นโอกาสที่จะเติบโตได้ในระยะยาวและช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีกับแบงก์อีกทางให้น้อยลงด้วย”นายไชยฤทธิ์ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปีหน้ากิจการสาขาต่างประเทศยังมีโอกาส เห็นได้จากอินโดนีเซีย เวียดนามที่มีการเติบโตไปได้ดีมาก เช่น อินโดนีเซียปีหน้ายังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีจำนวนมาก และได้รับอานิสงส์จากความสามารถในการผลิตและขายได้ในราคาสูงในภาวะที่รัสเซียและยูเครนเกิดการสะดุดในการผลิตสินแร่ดังกล่าว

BBL ตั้งเป้าสินเชื่อปี 66  โต 1.5% ของจีดีพี

สำหรับเวียดนามนั้น ภาครัฐมีนโยบายความเป็นมิตรกับประเทศใหญ่จากทั่วโลก ภายใต้สมาชิก RCEP และความมีเสถียรภาพภายในที่ไปได้ดี ประกอบกับค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศอื่นๆ เช่น เงินเยนอ่อนค่าประมาณ 25% รูเปียห์ประมาณ 6% เช่นเดียวกับดอลลาร์สิงคโปร์ที่อ่อนค่าประมาณ 6% และเงินบาทประมาณ 15% แต่สกุลเงินด่องอ่อนค่าประมาณ 4% แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวของแต่ละภาคอุตสาหกรรมและในเชิงเศรษฐกิจเวียดนามจึงมีความมั่นคงสูง

 

ส่วนจีนยังมีความน่ากังวล ต่อแนวโน้มการติดขัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย Zero Covid ซึ่งในช่วงที่ปิดประเทศ ประชาชนอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยต้องรอสถานการณ์ว่า ถ้าจีนเปิดประเทศเมื่อไหร่ น่าจะเห็นคนเดินทางท่องเที่ยวกลับมา

 

“ในแง่การเติบโตสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในจีนนั้น ค่อนข้างโชคดีที่ธนาคารเน้นการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมพื้นฐาน และอาหารต่างๆ จึงยังมีความต้องการต่อเนื่องและสินเชื่อเติบโตได้ดี แต่ไม่หวือหวา อุตสาหกรรมที่น่ากังวลในจีนคือเรียลเอสเตสอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง”

 

นายไชยฤทธิ์กล่าวถึงงบลงทุนด้านไอทีว่า อุตสาหกรรมธนาคารเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีค่อนข้างมาก แต่ละปีธนาคารมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการการลงทุนด้านไอทีมาอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 4-6 พันล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องลงทุนมากเป็นพิเศษในปีใดปีหนึ่ง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,832 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565