ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์ผนึกค่ายรถ รับมือสคบ.คุมเข้มดอกเบี้ย

15 ต.ค. 2565 | 03:17 น.

“เคลีสซิ่ง”ชี้ทางออกสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ หลังสคบ.คุมเข้มดอกเบี้ย แนะจับมือค่ายผู้ผลิตรถ-ดีลเลอร์ อุดหนุนดอกเบี้ยให้อยู่ภายใต้กรอบ ประกาศสคบ.คุมเพดานไม่เกิน 23% ค่าย “เฮงลีสซิ่ง” รุกทำจำนำทะเบียนแทน ด้านรถมือสองอายุรถยนต์เกิน 10-20 ปีกระทบหนัก

 ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ. ....ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565  เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคงเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อรถจักรยานยนต์เฉลี่ย 30-32% ต่อปี

 

ทั้งนี้ เพราะสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวครอบคลุมหลายมิติ เช่น

  1. กำหนดเพดานดอกเบี้ยต่อปีสำหรับรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% รถยนต์ใช้แล้ว ไม่เกิน 15% และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23%
  2. ปิดสัญญาล่วงหน้าให้ส่วนลดสูงสุด 70%
  3. คิดดอกเบี้ยผิดนัดไม่เกิน 5%ต่อปี และ 4. กระบวนการซื้อคืนหลังกระบวนการยึดและขายทอดตลาดต้องแจ้งให้สิทธิภายใน 30วัน 

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยรถใน 3 กลุ่มนั้นต้องยอมรับว่า เป็นเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติการพิจารณาสินเชื่อรถยนต์ใหม่มักเลือกลูกค้าคุณภาพดี ที่ต้องดาวน์สูง จะคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว

นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด

ส่วนลูกค้าที่เหลือ ประเภท ดาวน์น้อย ผ่อนนาน จะอยู่ภายใต้อีกเงื่อนไข เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง เพราะกลุ่มลูกค้าประเภท “ดาวน์น้อย ผ่อนนาน” นั้น จะมีความเสี่ยงคุณภาพหนี้ ถ้าผิดนัดชำระหนี้ ระหว่างแล้วเข้าสู่กระบวนการยึดแล้วนำออกประมูลขายทอดตลาดก็มีความเสี่ยงจะขาดทุน หากแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น การคิดดอกเบี้ยคงที่นาน เช่น 5 ปี หรือ 7 ปีก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

สำหรับรถยนต์ใช้แล้ว ส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่ม “ปีรถ” หรืออายุของรถยนต์ เช่น 3 -7 ปีจะคิดอัตราดอกเบี้ย 15% ส่วนปีรถที่เกิน 10-20 ปีนั้น การคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกหรือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้เงินต้องจ่ายจริง (Effective Interest Rate) จะเกินอัตรา 23% บ้างอาจจะคิด 30% ขึ้นไป ซึ่งผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้จะถูกกระทบหนัก

 

โดยเฉพาะสินเชื่อรถมอเตอร์ไซด์ถูกกระทบอย่างมาก แต่ทางออกของผู้ประกอบการสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ สามารถยึดรูปแบบการทำแคมเปญศูนย์เปอร์เซ็นต์มาใช้ โดยร่วมมือกับผู้ขายรถยนต์ หรือผู้ผลิตรถยนต์/ผู้แทนจำหน่าย หรือดีลเลอร์ทำโครงการอุดหนุน (Subsidize interest) เพื่อทำให้การคิดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับเพดานไม่เกิน 23% ภายใต้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ....

 

“ผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นนอนแบงก์ ส่วนกลุ่มแบงก์ทั้งรถใช้แล้วและรถมอเตอร์ไซด์มีสัดส่วนเพียง 1-5% ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ” นายธีรชาติกล่าว

 

นายธีรวัฒน์ ธวัลรัตน์โภคิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG)  กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว เพราะบริษัทมีพอร์ตสินเชื่อมอเตอร์ไซด์เพียงสัดส่วน 2% ของพอร์ตเท่านั้น ที่สำคัญ ที่ผ่านมาบริษัทเตรียมพร้อมมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หันไปทำตลาดจำนำทะเบียนมากขึ้น โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 18-22% ต่อปี

ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์ผนึกค่ายรถ รับมือสคบ.คุมเข้มดอกเบี้ย

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถยนต์ ปีรถและความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนจะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานดอกเบี้ยของสคบ.แต่อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับ 14% ปลายๆ

 

ขณะเดียวกันในการกำดูแลธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างสรุปผลผลการรับฟังความเห็นร่าง พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น แหล่งข่าวระบุว่า คาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนธันวาคม 2565 เพื่อให้มีผลภายใน 180 วันนับจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหมายถึงจะมีผลในทางปฏิบัติประมาณกลางปี 2566

 

“คาดว่า ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์น่าจะเริ่มคุ้นชินกับเพดานอัตราดอกเบี้ยของสคบ.ที่มีผลไปแล้ว แต่ก็ต้องปรับตัวอีกระลอก เพื่อให้อยู่ภายใต้พ.ร.ฎ.ของธปท.ซึ่งจะเข้ามาดูแล เพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่ แต่ยังไม่สามารถประเมินอัตราดอกเบี้ย แต่เนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น จึงเป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตากับนโยบายที่จะเกิดขึ้นและการเข้ามากำกับดูแลเเรื่องมาร์เก็คคอนดักส์และอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งจะมีหลายอัตรา” แหล่งข่าวระบุ   

 

ทั้งนี้พ.ร.ฎ.ธปท.เป็นการทำควบคู่กับการทำงานของสคบ. เพื่อดูแลผู้บริโภคที่ถูกผู้ให้บริการเงินกู้รถยนต์คิดดอกเบี้ยแพงและไม่เป็นธรรม โดยจะเป็นแนวกำกับดูแลทั้งระบบไม่ใช่แค่เรื่องดอกเบี้ยเท่านั้น

 

“ธปท.ได้ทำงานกับสคบ.มาโดยตลอด และได้ส่งข้อมูลเรื่องคิดคำนวณต้นทุนและดอกเบี้ย เพื่อกำหนดเพดาน ซึ่งในระหว่างที่แนวทาง ธปท.จะมีผลให้ใช้อัตราดอกเบี้ยของสคบ.ไปก่อน แต่ในอนาคตธปท.จะกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อลีสซิ่งของตัวเอง ส่วนสคบ.จะดูแลเรื่อง อื่นๆแทน เช่น ในเรื่องสัญญากู้ยืม ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เข้ามาคุ้มครองผู้บริโภค และ ธปท.ได้พูดคุยกับ สคบ.อยู่ตลอดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เพดานดอกเบี้ยที่กำหนดอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่จะเป็นอัตราเพดานนี้ไปตลอด” แหล่งข่าวกล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565