ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น กำลังเริ่ม ประเทศไทยต้องอยู่ยังไงหลังเงินเฟ้อทะยาน

29 ก.ย. 2565 | 07:16 น.

ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น กำลังเริ่มขึ้นแล้ว “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ระบุ ยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน จบแล้ว กลายเป็นยุคที่ต้องระวังเรื่องการใช้จ่าย ดอกเบี้ยเงินฝาก เงินกู้เพิ่ม พร้อมแนะประเทศไทยต้องอยู่ยังไงหลังเจอภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยาน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.KOB วันนี้ (29 ก.ย.65 ) โดยระบุว่า ยุคที่เราต้องระวังเรื่องการใช้จ่าย กำลังเริ่มแล้ว เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กำลังทำให้ “ยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน” จบลง

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการสู้สงครามกับเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายแต่ละประเทศ ต้องปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง 

โดยในเวลาไม่ถึงปี 

  • สหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวม +3.0%
  • สหภาพยุโรป ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม +1.25% 
  • อังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้ง รวม +2.15%
  • ออสเตรเลีย 5 ครั้ง รวม +2.25%
  • ฟิลิปปินส์ 5 ครั้ง รวม +2.25%
  • มาเลเซีย 3 ครั้ง รวม +0.75%
  • อินโดนีเซีย 2 ครั้ง รวม +0.75%
  • ไทย 2 ครั้ง รวม +0.5%

 

เมื่อธนาคารกลางขยับ ดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรต่าง ๆ ก็จะขยับตามเป็นขบวนแรก ทั้งดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของเอกชน บางครั้ง ขึ้นก่อนธนาคารกลางปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำไป ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ก็เช่นกัน ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามสัญญาณจากธนาคารกลาง เป็นขบวนถัดมา 

ในสหรัฐ JPMorgan Chase Bank แบงก์ที่ใหญ่ที่สุด ได้ปรับ Prime Lending Rate ขึ้น 5 ครั้ง จาก 3.25% เป็น 6.25% ขึ้นมา +3.0% ตามจังหวะที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างสอดประสาน แบงก์อื่น ๆ เช่น Bank of America หรือ Well Fargo Bank ก็ปรับขึ้น 5 ครั้ง ในจังหวะและอัตราเดียวกัน

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะคอยดูสัญญาณจากธนาคารกลางว่า ต้องการให้ดอกเบี้ยในประเทศปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และจะดำเนินการตามที่ธนาคารกลางส่งทิศทางมา 

 

ทั้งนี้ เนื่องจากแบงก์พาณิชย์แต่ละแบงก์ เป็นแค่ส่วนเดียวของเศรษฐกิจ คงยากที่จะฝืนทิศทางของธนาคารกลางได้ เพราะสัญญาณและนโยบายจากธนาคารกลาง จะกระทบไปทุกส่วนของตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรที่จะเป็นตลาดแรกที่ปรับทันที 

 

ส่วนธนาคารพาณิชย์ อาจจะใช้เวลา อาจจะรอได้บ้างในช่วงสั้น ๆ แต่เมื่อธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยไปต่อเนื่องในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดอกเบี้ยในระบบเริ่มเคลื่อนไหวไปในทิศทางนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องปรับตาม ในท้ายที่สุดเช่นกัน ซึ่งการปรับดอกเบี้ยตามดังกล่าว จะช่วยให้นโยบายของธนาคารกลาง สามารถส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ ในทิศทางที่ธนาคารกลางต้องการ

 

สำหรับประเทศไทย หลังแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 2 ครั้ง +0.5% และคงปรับขึ้นไปต่ออีกระยะ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กำลังเริ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลต่อดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยในกระบวนการดูแลเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ 

 

ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น จะจูงใจให้คนลงทุน และกู้ยืมน้อยลง ดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น จะจูงใจให้คนฝากเงิน ใช้จ่ายน้อยลงเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมใช้จ่ายลดลง ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

 

โดยกระบวนการนี้ จะเริ่มชะลอและหยุดลง ก็ต่อเมื่อแบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางดอกเบี้ย จบรอบของการขึ้นดอกเบี้ยหมายความว่า “ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ในไทย ยังจะเดินหน้าไปอีกระยะ ส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินกู้แบบต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น

 

สินเชื่อบ้านแบบคงที่ 2-3 ปี ดอกต่ำ ๆ ก็แทบหาไม่ได้ในขณะนี้ ต่างจากช่วงก่อนหน้า ซึ่งเราทุกคนคงต้องระวังเรื่องการสร้างหนี้ ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น นี้ ยิ่งเศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนลง บริษัทต่าง ๆ คงต้องคิดเรื่อง สภาพคล่อง ดูแลกระแสเงินสด ฐานะการเงินให้ดี อะไรไม่จำเป็นก็คงต้องผลักออกไปก่อน เพื่อให้เราสามารถผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าไปได้ ส่วนผู้ฝากเงิน ที่ต้องรับกับดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ๆ มานาน ต่อไปก็จะได้ดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ลองดู เนื่องจากแบงก์ชาติไทยคงปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าประเทศอื่นๆ และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป จากเงินเฟ้อพื้นฐานของเรายังไม่สูงมากนัก จากเศรษฐกิจเราที่ฟื้นตัวช้ากว่าเขา และจากครัวเรือนส่วนหนึ่งเปราะบาง มีหนี้มาก

 

ทั้งนี้ การที่แบงก์ชาติไทยจะขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ขึ้นไปที่ 1.25%-2.0% แล้วดูสถานการณ์โลกว่าเป็นอย่างไร กระทบกับไทยมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้จะทำให้ดอกเบี้ยประเภทต่าง ๆ ในไทย ปรับขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นกัน ซึ่งช่วงนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยไปไม่มาก น่าจะดีกว่า