"ค่าเงินบาท"แตะอ่อนค่าสุดครั้งใหม่รอบเกือบ 16 ปี เตือนรับมือผันผวน

22 ก.ย. 2565 | 02:39 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เตือนผู้ประกอบการรับมือ"บาทผันผวน"ช่วงที่เหลือของปี หลังล่าสุด"เงินบาท"แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ จากแรงกดดัน "ดอลลาร์ฯแข็งค่า" จากนโยบายการเงินคุมเข้มของเฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "สถานการณ์ค่าเงินบาท" โดยระบุว่า ล่าสุด เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ท่ามกลางสัญญาณการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นนับเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 หรืออ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี 

 

"ค่าเงินบาท"แตะอ่อนค่าสุดครั้งใหม่รอบเกือบ 16 ปี เตือนรับมือผันผวน

 

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้องและเกาะกลุ่มไปกับทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เป็นอันดับ 5 ในเอเชีย ตามหลังเงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินเปโซฟิลิปปินส์ และเงินดอลลาร์ไต้หวันตามลำดับ 

 

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การอ่อนค่าของทุกสกุลเงินในเอเชียที่กระจายเป็นวงกว้าง สะท้อนว่า ชนวนสำคัญมาจากเรื่องของเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าอย่างมากตามจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของเฟด 

 

"ค่าเงินบาท"แตะอ่อนค่าสุดครั้งใหม่รอบเกือบ 16 ปี เตือนรับมือผันผวน

 

"คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินเอเชียในภาพรวมในปีนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ปรับเปลี่ยนเร็วในระหว่างรอบการประชุม มากกว่าปัจจัยทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ดังนั้น สถานการณ์เงินบาทในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเรื้อรังจากความไม่สมดุลหลายด้านพร้อมกันและต้องใช้เวลานานกว่าที่จะคลี่คลายลง นอกจากนี้ เข้าใจว่า ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน" บทวิเคราะห์ ระบุ

 

อย่างไรก็ดี หากต่อภาพไปในช่วงที่เหลือของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังและควรเลือกใช้เครื่องมือ (อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด หรือออปชั่น) เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะคงต้องยอมรับว่า ตลาดการเงินยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ของสหรัฐฯ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตกผลึกมุมมองในเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

 

ทั้งในเรื่องแนวโน้มและจุดสิ้นสุดของวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากมุมมองในเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะช่วยให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าที่มีต่อเงินบาทและสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทยอยคลี่คลายลงไปได้ตามลำดับ