สรรพสามิตเปิดแผนรีดภาษี 6 กลุ่มสินค้า เบียร์0% โดนด้วย

07 ก.ย. 2565 | 08:46 น.

กรมสรรพสามิต เปิดยุทธศาสตร์ปีงบ 66 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต ชี้เดินหน้ารีดภาษี 6 สินค้าทำลายสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ เหล้า-เบียร์ โดนด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 66 กรมสรรพสามิตได้วางแผนในการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพิ่มใน 6 สินค้า ได้แก่ น้ำมันไบโอเจ็ท ไบโอพลาสติก แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เหล้า-เบียร์แอลกอฮอลล์ 0% บุหรี่ไฟฟ้า และ ภาษีคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีความชัดเจนทั้งพิกัดและอัตราจัดเก็บภายในปีงบประมาณ 66 ส่วนจะเริ่มบังคับใช้เมื่อไหร่นั้น จะมีการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

 

"กรมมีแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต ภายใต้หลัก ESG โดยหลักการคือ เก็บภาษีในอัตราน้อยลงหรือไม่จัดเก็บเลยในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคม และเก็บภาษีในอัตราสูงในสินค้าและบริการที่ไม่เป็น ESG" นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติยกตัวอย่าง การจัดเก็บภาษีภายใต้หลัก ESG เช่น แบตเตอรี่ที่ปัจจุบันจัดเก็บภาษีในอัตรา 8% แต่ในอนาคตหากสามารถนำไปรีไซเคิลได้อัตราภาษีก็จะถูกลง แต่หากรีไซเคิลไม่ได้อัตราภาษีจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับ เหล้า-เบียร์ หากแอลกอฮอล์ 0% จะเสียภาษีในอัตราถูกลง แต่หากยิ่งปริมาณแอลกอฮอลล์สูง อัตราภาษีก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

 

"ภาษีเหล้า-เบียร์ ที่แอลกอฮอล์ 0% เนื่องจากกรมฯ ศึกษาพบว่าเด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้เน้นดื่มให้เมา แต่เน้นดื่มให้เท่ห์ และเทรนในอนาคตจะเป็นแบบนี้ เชื่อว่าเอกชนผู้ผลิตก็มองทิศทางเดียวกัน ดังนั้นหากปริมาณแอลกอฮอล์น้อยก็เสียภาษีน้อยตามไปด้วย โดยกรมจะพยายามให้อัตราภาษีที่จัดเก็บอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องดื่มทั่วไป และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์" นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติ ยอมรับว่า ในการลดอัตราภาษีให้กับสินค้าและบริการที่เป็น ESG แม้จะทำให้รายได้ของกรมฯลดลง แต่กรมจะสามารถจัดเก็บภาษีจากสินค้าและบริการที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือทำลายสุขภาพ ซึ่งจะมีการจัดเก็บในอัตราสูงขึ้นเข้ามาทดแทน

 

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้รวม 567,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบ 2565 กรมคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ที่ 500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมฯ ได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง เพื่อช่วยลดผลกระทบประชาชนในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง