ดอกเบี้ยขาขึ้น ดันยอดสินเชื่อบ้านเพิ่ม

01 ก.ย. 2565 | 10:48 น.

แบงก์ชี้ครึ่งหลังสินเชื่อบ้านยังขยับ หลังครึ่งปีแรกโต 5.6% เหตุทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เร่งการตัดสินใจ ส่งผลตลาดฟื้นตัวกลับไปก่อนโควิด เอ็นพีแอลทรงตัวภายใต้มาตรการรัฐ “กรุงศรี” ผุดสินเชื่อบ้านพิเศษ ใช้บัญชีฝากลดต้นเงิน “ทีทีบี” รุกสินเชื่อไฟแนนซ์

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาส 2 ปี 2565 มียอดคงค้าง 3,340,950 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.83% แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,638,766 ล้านบาทและสินเชื่อของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อีก 702,184 ล้านบาท โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผู้บริโภคขยายตัว 2.45% โดยที่เป็นสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ 21,526 ล้านบาทขยายตัวถึง 27.14% ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อบ้านใหม่หรือบ้านมือสองหดตัว 4.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ในระบบขณะนี้ ยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบายที่ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0.75% ต่อปี สาเหตุหลักมาจากความเห็นที่ตรงกันว่า ภาวะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวและยังมีภาคธุรกิจและประชาชนส่วนหนึ่งยังต้องประคองตัวท่ามกลางต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและลูกหนี้เดิม ซึ่งยังพอมีเวลาให้ผู้บริโภคได้ปรับตัว ขณะที่กลุ่มเปราะบางมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สำหรับภาพรวมของการขึ้นดอกเบี้ยช้าลงจะเป็นการลดภาระดอกเบี้ยให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพราะยอมรับว่า เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวยังไม่มากพอต้องรอเวลาและธนาคารรับภาระกันไปก่อน ส่วนใหญ่รอดูการประชุมคณะรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบหรือไม่ หากกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28 กันยายน 2565 ก็ต้องกลับมาทบทวนเรื่องปรับขึ้นดอกเบี้ย

ดอกเบี้ยขาขึ้น ดันยอดสินเชื่อบ้านเพิ่ม

ส่วนตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งแรกปีนี้เติบโต 5.6% มูลค่า 3.12 แสนล้านบาทจากปีที่แล้ว 2.95 แสนล้านบาทคาดว่า สิ้นปีจะเห็น 6.40 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการฟื้นกลับไปเท่ากับปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งบ้านราคา 3-10 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้นั้น ราคาปรับขึ้นพอสมควร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในช่วง 3-7 ล้านบาท

ในส่วนของธนาคารจะมี “สินเชื่อ ซุปเปอร์เซฟวิ่ง” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารกรุงศรีฯปีนี้ โดยต้องมีพนักงานธนาคารและพนักงาน/เซลในโครงการอสังหาฯพันธมิตรเสนอความรู้ให้ลูกค้าได้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เพราะในตลาดยังไม่มีโปรดักต์นี้ออกมาแข่งขัน ซึ่งสินเชื่อและดอกเบี้ยไม่ต่างกับทั่วไป แต่มีเงิื่อนไขการนำเงินฝากมาไว้กับธนาคารเหมือนโป๊ะลดเงินต้น โดยไม่ต้องรอรีไฟแนนซ์ตลอดชีวิต

 

“ปีนี้เราไม่กังวลเรื่องทำเป้า เพราะดูแล้ว เราปล่อยสินเชื่อบ้านได้เกินตลาดแน่ เพราะครึ่งปีหลังยอดสินเชื่อค่อนข้างสูง จาก 2.95 แสนล้านบาทเติบโตเป็น 3.12 แสนล้านบาทและมองว่า ตลาดน่าจะเติบโต 5.6% ยอดสินเชื่อน่าจะเกิน 6.4 แสนล้านบาท กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้” นายณัฐพลกล่าว

 

ทั้งนี้ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ผ่านบัญชีสินเชื่อบ้านกับธนาคารกรุงศรีจะถูกนำไปคำนวณกับเงินต้น ทำให้ดอกเบี้ยถูกกว่าตั้งแต่วันแรก ลูกค้าไม่จำเป็นต้องรอรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะยอดเงินฝากจะถูกนำมาคำนวณลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดถึง 40% ของยอดเงินต้นคงค้าง ณ สิ้นวัน

 

“เช่นเงินกู้ 5 ล้านบาท สามารถนำเงินฝากเข้ามา 2 ล้านบาทเสมือนหักเงินกู้ยอดเงินต้นที่จะคำนวนดอกเบี้ยได้ โดยจะคำนวณจากราคาบ้าน 3 ล้านบาทไม่ใช่เงินกู้ที่ 5 ล้านบาท และลูกค้าสามารถนำเงินฝากมาค้างไว้ในบัญชีนี้ เพื่อลดต้นเงินกู้ เพื่อให้ดอกเบี้ยลดลงอัตโนมัติ”

 

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังมองภาพไม่ชัด เพราะลูกค้ายังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งทุกธนาคารพยายามช่วยเหลือตามความหนักเบาของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งสินเชื่อบ้าน หากไม่ลำบากจริงๆ ลูกค้าไม่ปล่อยให้เป็นหนี้เสีย โดยในส่วนของมาตรการสนับสนุนการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนองยังเอื้อต่อการทำตลาด คาดว่าทางการจะพิจารณาต่ออายุออกไปอีก

 

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) และกรรมการผู้จัดการ ทีทีบี คอนซูเมอร์กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อบ้าน หากพิจารณาจากการปล่อยสินเชื่อบ้านใหม่แนวโน้มยังทรงตัวด้วยเหตุผลจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นและราคาบ้านใหม่ไม่ได้ปรับลดลง ประกอบกับลูกค้ามีความต้องการสภาพคล่องจะเห็นความต้องการรวมหนี้สำหรับลูกค้าที่มีหนี้ที่อยู่อาศัย เช่าซื้อหรือสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งช่วยลดภาระให้ลูกค้าได้ด้วย

นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี)

ทั้งนี้ความสนใจซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 3-5 ล้านบาท แต่แนวโน้มขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำหนี้ของผู้กู้แต่ละราย แต่สินเชื่อรีไฟแนนซ์จะตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่อง ซึ่งทีทีบีตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรีไฟแนนซ์ปีนี้ที่ 10,000 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,813 วันที่ 28 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565