คลัง จ่อขยายอายุ "ลดภาษีดีเซล" ออกไปถึงสิ้นปี 65

31 ส.ค. 2565 | 04:38 น.

คลัง จ่อขยายอายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลไปถึงสิ้นปี 65 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศช่วงปลายปี หนุนเศรษฐกิจไทยทั้งปีโต 3% - 3.5% ตามเป้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Bangkok Post Forum 2022 ก้าวใหม่ประเทศไทย ก้าวต่อไปบนความท้าทาย” ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีกถึงสิ้นปี 65 นี้ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ 5 บาทต่อลิตร และจะหมดอายุมาตราการวันที่ 20 กันยายนนี้

ทั้งนี้เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศในช่วงปลายปี โดยในวันที่ 1 กันยายนนี้ จะเริ่มใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งเฟส5 ได้ นอกเหนือจากปัจจัยหลัก คือ การขยายตัวของภาคส่งออก ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 8-10 ล้านคน โดยทุกปัจจัยจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% - 3.5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

"เรากำลังพิจารณาว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เราจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยในเรื่องของราคาน้ำมันได้อย่างใด แต่ทั้งนี้ในการออกมาตรการยังต้องพิจารณาในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะรายได้ของรัฐบาล ที่ปัจจุบันแม้จัดเก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ได้นำมาชดเชยราคาพลังงาน ด้วยการปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท และ 5 บาท ในช่วงที่ผ่านมา" นายอาคม กล่าว 

 

นายอาคม มองว่า อัตราเงินเฟ้อไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/65 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6% ดังนั้นสำหรับมาตรการระยะสั้นในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ รัฐบาลจะเข้าไปดูแลเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ในส่วนของผลกระทบจากราคาน้ำมันเบนซิน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ลดภาษีให้ ก็จะไปดูแลในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มรถรับจ้าง และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมทั้งกลุ่มแท็กซี่ ที่ใช้ก๊าซ NGV ด้วย

 

ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งจะเริ่มมีผลใช้วันที่ 1 ตุลาคม 65 นี้ ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท โดยยังเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 6.95 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 65 ซึ่งอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อจากนี้ จะต้องขาดดุลลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

นายอาคม ยังกล่าวถึงหนี้สาธาณะของไทย ณ กรกฎาคม 65 อยู่ที่ 60.75% แม้ปัจจุบันจะขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะเป็น ไม่เกิน 70% ต่อ GDP เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้รัฐบาลสามารถใช้จ่ายได้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะในปัจจุบันที่ยังอยู่ใกล้เคียงกรอบเดิม ที่ 60% ต่อ GDP สะท้อนว่ารัฐบาลยังบริหารและดำเนินนโยบายภายใต้วินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

 

เช่นเดียวกับการขยายเพดานการก่อหนี้ตาม มาตรา 28% ที่ได้ขยายเพดานเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 35% ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ ผ่านโครงการประกันรายได้ ซึ่งเป็นการขยายเพดานเป็นการชั่วคราว ดังนั้นเมื่อนำงบประมาณชำระหนี้ที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 66 มาชำระคืนได้ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้ที่ก่อขึ้นปรับลงมาอยู่ที่ 30% ในปีงบประมาณ 66

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ระหว่าง 1 – 3 บาท ต่อลิตร เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ฯ/บาเรล มาอยู่ที่ 96.88 เหรียญฯ/บาเรล

 

หากรัฐบาลปรับลดภาษีลง 1 บาทต่อลิตร จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ1,900 – 2,000 ล้านบาทต่อเดือน และหากปรับลดลง 3 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่หากคงอัตราปรับลดไว้ที่ 5 บาทต่อลิตรเช่นเดิม จะทำให้สูญเสียรายได้ประมาณ 9,000 – 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นหากรัฐบาลขยายอายุมาตรการถึงสิ้นปี 65 จะสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 – 30,000 ล้านบาท