รีวิว Honda e:N1 EV ประกอบไทย ขับเนียน ช่วงล่างแน่น วิ่งจริง 410 กม./ชาร์จ

27 เม.ย. 2567 | 07:26 น.

รีวิว Honda e:N1 EV รุ่นแรกที่ฮอนด้า ออโตโมบิล เริ่มประกอบไทย ในแง่สมรรถนะนั้นยอดเยี่ยม ขับเนียน ช่วงล่างแน่น ระยะทางวิ่งจริงๆ ประมาณ 410 กม. ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง ทว่าไม่ขายเป็นการทั่วไป แต่ปล่อยให้เช่าระยะยาวเท่านั้น

แม้จะเตรียมการล่วงหน้ามาหลายปี แต่โปรเจ็กต์ Honda e:N1 กลายเป็นเรื่องยุ่ง วุ้งวิ้ง ตาลายคล้ายจะเป็นลม มากกว่าที่ฮอนด้าประเมินไว้ จากแผนขึ้นไลน์ประกอบ EV รุ่นแรกในไทย

 

Honda e:N1 เริ่มประกอบที่โรงงาน ฮอนด้า ออโตโมบิล จ.ปราจีนบุรี ช่วงปลายปี 2566 ซึ่งฉากหน้าที่ถ่ายภาพส่งข่าวประชาสัมพันธ์สวยงาม แต่เบื้องหลังนั้น ปวดใจไม่ราบรื่นอย่างที่คิด

รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1

เอาเป็นว่า การประกอบ EV ในไทย เป็นภาคบังคับที่ฮอนด้าต้องทำอยู่แล้วครับ ตามเงื่อนไขของบัตรส่งเสริมส่งการลงทุนกับ BOI โดยการตัดสินใจตอนนั้น ยังไม่เกี่ยวกับมาตรการ EV 3.0 หรือ EV 3.5 ที่คลอดออกมาใหม่

 

แต่นั่นละครับ เมื่อเริ่มลงมือทำโปรเจ็กต์กันอย่างจริงจัง ยังต้องพึ่งพาบริษัทพันธมิตร จากจีน จึงกลายเป็นโดนโขกทั้ง ราคาชิ้นส่วนต่างๆ (เพราะสั่งจำนวนน้อย) แถมโดนกรมศุลกากร ตีความด้านภาษีนำเข้าแบบเต็มพิกัด ยิ่งทำให้ต้นทุนของรถก่อนบวกกำไร สูงกว่าที่ฮอนด้าประเมินไว้ในตอนแรก

 

ดังนั้น ถ้าทำเอสยูวีพลังงานไฟฟ้ารุ่นนี้ขายเป็นการทั่วไปจริงๆ ราคาอาจจะกระโดดไปถึง 2 ล้านบาท (ถ้านำเข้าทั้งคัน อาจจะทำราคาได้ดีกว่า) ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนที่แบรนด์ญี่ปุ่นควบคุมตลาดเบ็ดเสร็จ และยังไม่มี EV จีนเข้ามาถล่ม ผมเชื่อว่าฮอนด้า นำ Honda e:N1 ขึ้นไปขายบนโชว์รูมแน่นอน แต่เมื่อรถจีนได้เปรียบเรื่องต้นทุนและภาษีนำเข้า พร้อมขายราคาล้านต้นๆ งานนี้ฮอนด้าจึงต้องขอหมอบ โดยเลือกที่จะผลิตแล้วปล่อยเช่าระยะยาว 2-5 ปีแทน (ผ่านบริษัทรถเช่าที่เป็นพันธมิตรกัน แต่ตัวรถฮอนด้ายังเป็นเจ้าของ 100%)

Honda e:N1 พัฒนาต่อยอดมาจาก Honda HR-V โฉมปัจจุบัน เรียกว่ายังไม่ใช่แพลตฟอร์ม EV แท้ๆ ดังนั้นเรายังเห็นแบตเตอรี่ห้อยตํ่ากว่าท้องรถเดิม และมีจุดชาร์จไฟอยู่ที่กระจังหน้า

 

สำหรับจุดชาร์จไฟฝังไว้ที่กระจังหน้า รองรับ AC 11 kW และ DC 78 kW ซึ่งการอยู่ในตำแหน่งนี้ สะดวกต่อการชาร์จ เพียงแต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุการชนด้านหน้า อาจจะเกิดความเสียหายได้ง่าย

รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1

ด้านมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนล้อหน้ากำลัง 204 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 310 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน NMC ความจุ 68.8 kWh ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะ 500 กม. (มาตรฐาน NEDC)

 

รีวิว Honda e:N1 ขับจริงระบบขับเคลื่อนตอบสนองดี และไม่ออกแนวกระชากแบบหน้าทิ่มหัวจิก อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 7.7 วินาที ขณะที่ช่วงล่างการควบคุมเนียนแน่นกว่าเอสยูวี EV จีนทุกรุ่นที่ขายอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน

 

เหนืออื่นใด ยังมีโหมดการขับขี่ให้เลือก 3 แบบ เหมือนกับรถยนต์ฮอนด้าหลายๆ รุ่น คือ Normal Sport และ Eco แถมด้วยแพดเดิลชิปหลังพวงมาลัย เพื่อควบคุมระบบเบรกรีเจเนอเรทีฟ ว่าจะเอาหน่วงมากหรือน้อยได้ตามต้องการ

 

ผมยังแอบชอบจอสัมผัสขนาด 15.1 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay แบบไร้สายและ Android Auto ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชั้น เห็นชัดเจนใช้งานสะดวก แบบไม่ต้องกดเข้าไปเมนูลึกๆ โดยด้านบนแสดงระบบนำทางและสะท้อนภาพขณะถอยหลัง ตรงกลางเป็นค่าสำคัญต่างๆ ของรถ และด้านล่างสุดเป็นการควบคุมแอร์อัตโนมัติ

รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1

ส่วนความปลอดภัย Honda SENSING มีระบบช่วยเตือนมุมอับสายตาที่กระจกมองข้าง (Blind Spot Information - BSI) ระบบเตือนเมื่อมี รถผ่านขณะถอย (Cross Traffic Monitor - CTM) และกล้องส่องภาพด้านหลัง แน่นอนว่าไม่มีฟังก์ชันลูกรักอย่าง Honda Lane Watch และไม่มีกล้องรอบคันมาให้

 

ด้านอัตราบริโภคพลังงานแสดงผลชัดเจนคำนวณง่าย ซึ่ง รีวิว Honda e:N1 ครั้งนี้ ผมได้ตัวเลข 6 กิโลเมตร ต่อ 1 kWh  โดยผมลองขับจากกรุงเทพไปนครนายก ระยะทางกว่า 100 กม.ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นหากวิ่งจริงจากข้อมูลนี้ รถจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 412 กิโลเมตร ต่อ การชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง

รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1 รีวิว Honda e:N1

รวบรัดตัดความ...เป็นก้าวแรกของฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ที่เริ่มขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทย แน่นอนว่ายังไม่ราบรื่นนัก และหากมองว่า Honda e:N1 ปล่อยเช่า และฮอนด้ายังดูแลเรื่องบริการหลังการขายทั้งหมด สามารถอุ่นใจได้ และบริษัทจะได้มีโอกาสเก็บข้อมูลต่างๆ จากการใช้งานจริง เพื่อนำไปศึกษากับการทำตลาด EV รุ่นต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นการ นำเข้าทั้งคันจากจีน หรือจะประกอบที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ต้องรอดูกันต่อไป แต่ถ้าพูดถึงสมรรถนะการขับขี่ล้วนๆ Honda e:N1 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับดีมากนะครับ

รีวิว Honda e:N1 : กรกิต กสิคุณ