ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “แข็งค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 36.07 บาท/ดอลลาร์

25 ส.ค. 2565 | 00:33 น.

เงินบาท “แข็งค่า”ไปได้ไม่มาก เหตุตลาดพันธบัตรยังทยอยขายทำกำไรรวมทั้งแรงขายจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ -วันนี้ ผู้เล่นในตลาดรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรป

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.13 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง โดยผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุม Jackson Hole ก่อนที่จะปรับสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัวในกรอบ sideways 

 

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการเมืองของไทยที่อาจคลี่คลายลงในระยะสั้น อาจพอช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องได้บ้าง แต่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าจากฝั่งหุ้นอาจไม่สามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าไปได้มากนัก เนื่องจากในฝั่งตลาดบอนด์ เรายังคงเห็นภาพการทยอยขายทำกำไรและยังเห็นแรงขายจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติอยู่

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ35.85-36.15บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุมที่เมือง Jackson Hole ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง (Crude Inventories)

 

ล่าสุดที่ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมถึงแนวโน้มที่กลุ่ม OPEC+ อาจกลับมาลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ได้ช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องราว +0.9% สู่ระดับ 95.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวขึ้น (Chevron +0.7%, Exxon Mobil +0.6%) และหนุนให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด +0.29%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.16% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ กลุ่มการแพทย์ (Novo Nordisk +2.6%, Novartis +0.8%) หลังผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงวิกฤติพลังงาน หากรัสเซียยุติการส่งออกแก๊สธรรมชาติมายังยุโรปโดยสิ้นเชิง

 

างด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่า เฟดอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน (ตลาดให้โอกาส 61% สูงขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ 53% จากข้อมูล CME FedWatch Tool) ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.10%

 

เราคงมุมมองว่า หากตลาดเริ่มมั่นใจในแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเพิ่มสถานะการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งจะทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด (ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้กลับไปสู่ระดับ 3.50% ในช่วงก่อนหน้านี้) ก่อนที่จะทยอยปรับตัวลดลงตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.6 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานประชุม Jackson Hole

 

ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ลง/ขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมาบ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ต่อ

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยุโรป โดยตลาดประเมินว่า ภาคธุรกิจของเยอรมนีอาจปรับลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า

 

สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนสิงหาคมที่จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 86.8 จุด ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปออกมาแย่กว่าคาดที่ตลาดคาดไปมาก อาจยิ่งทำให้ตลาดกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย กดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงได้