เพิ่ม thansettakij
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
หลายปีที่ผ่านมา พัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน โดยในยุคแรก การเป็นเจ้าของ Bitcoin และคริปโตอื่นๆ นั้นทำได้ยากมาก แต่ต่อมาก็ได้มีพัฒนาและกำเนิด Stablecoin ซึ่งเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางคล้ายตั๋วแลกเงินตามแต่สกุลของเหรียญนั้น เพื่อใช้ในการซื้อ Bitcoin และคริปโตอื่น ได้สะดวกมากขึ้นมหาศาล โดยคงแนวคิดของความกระจายศูนย์ (Decentrazlied) และโปร่งใสตามคุณสมบัติของบล็อกเชนเอาไว้
แต่ Stablecoin ไม่ได้ถูกสร้างโดยหน่วยงานควบคุมการเงินอย่างธนาคาร หรือองค์กรด้านการเงินที่ได้รับรองด้านกฎหมายของประเทศนั้นโดยตรง แต่ถูกออกโดยองค์กร หรือบริษัทหนึ่งที่ใครก็สามารถทำได้ ตรงส่วนนี้จึงทำให้เหล่าหน่วยงานอย่างธนาคารกลางเริ่มออกมาตรการบางอย่างเพื่อใช้ในการกำกับดูแล ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรแน่ชัด
หนึ่งในกระบวนการดังกล่าว ก็คือการก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดด้วยการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภายใต้การดูแลของตน รูปแบบของพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารถูกเรียกว่า Central Bank Digital Currencies หรือ CBDCs
CBDCs เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในแต่ละประเทศ และถูกค้ำไว้ด้วยสกุลเงินของประเทศนั้นแบบ 100 เปอร์เซ็น ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ไม่ต่างอะไรจากสกุลเงินที่เราใช้ในรูปแบบของแบงก์ และเหรียญที่ใช้อยู่ แต่แค่ใช้ผ่านระบบดิจิทัลบนบล็อกเชนแทน โดยความน่าสนใจอยู่ที่ CBDCs จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้หลากหลายขึ้น อันจะช่วยลดภาระทางด้านต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ณ ปัจจุบัน
หากเทียบกันในเชิงการใช้งาน CBDCs แทบไม่ได้ต่างอะไรไปจาก Stablecoins ที่ออกโดยองค์กร หรือบริษัทอื่น แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ การมีตัวกลางเข้ามาควบคุมกระแสเงินสด และนโยบายต่างๆ ในการออกเหรียญ CBDCs แต่ละเหรียญ ซึ่งสามารถเพิ่มลดอุปสงค์อุปทานได้ตามแต่นโยบายการเงินของประเทศ ณ ตอนนั้น ซึ่งหมายถึงเหรียญ CBDCs ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ในระดับโกลบอล แต่เน้นใช้งานในประเทศ โดยโฟกัสไปที่ธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน
CBDCs แม้จะมีแนวคิดในการใช้ระบบบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการสร้างสกุลเงินดิจิทัล แต่ด้วยการควบคุมผ่านตัวกลางอย่างธนาคารกลาง หากมีการบังคับใช้ จะทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องการลดทอนความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ไปโดยปริยาย เพราะหน่วยงานรัฐจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของธุรกรรมของผู้ใช้ในระบบได้ทั้งหมด
ซึ่งหมายถึงการมีอำนาจในการระงับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้เงินผ่านระบบ หากถูกรัฐตัดสิทธิ์ในเชิงกฎหมายไม่ให้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ด้านการเงินได้ ก็จะทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะการบังคับใช้ CBDCs จะหมายถึงเราจะต้องเอาเงินสดที่มีอยู่ แปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัล การควบคุมจึงทำได้ง่ายดายมากขึ้น
อีกทั้งการมีอยู่ของธนาคารก็จะมีความสำคัญน้อยลง เพราะเราไม่จำเป็นต้องพึ่งธนาคารในการฝาก และโอนเงิน เพื่อจ่ายค่าน้ำให้กับร้านโชห่วย ผ่านกระเป๋าของรัฐได้เลย และเมื่อเกิดการแปลงเงินสดไปอยู่ในรูปของ CBDCs ปริมาณมาก ท้ายที่สุดธนาคารก็จะขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างสินเชื่อ และอาจจะทำให้เกิดการล้มของภาคเศรษฐกิจรายย่อยเป็นโดมิโน่
แม้สิ่งที่ได้กลับมา คือ ความมั่นคงเป็นมีธนาคารกลางคุมระบบอย่างเต็มรูปแบบ ไม่เหมือน Stablecoins ที่เราต้องเชื่อมั่นใจบริษัทที่สร้าง Stablecoins นั้นอยากมาก โดยที่ในความจริงเราไม่มีประกันอะไรรองรับเลยหากเกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกดูเหมือนจะเป็นปัญหาในเชิงปฎิบัติมากอยู่เดียวกัน
เพราะฉะนั้นในความเห็นของผู้เขียน รัฐเองจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะพิจารณาเริ่มการใช้งาน CBDCs ว่าควรจะใช้เป็นรูปแบบการเงินหลัก หรือเป็นตัวเลือกทางการเงินอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะการนำ CBDCs มาใช้จริง มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่จะมาช่วยให้ระบบการเงินของผู้ใช้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ทำได้เพียงเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง และเตรียมตัวสำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดแบบไม่คาดคิด