ก๊อกสุดท้าย 1.67 แสนล้าน โด๊ป GDP ขยายตัว 3.5 %

18 ส.ค. 2565 | 21:00 น.

ส่องเม็ดเงินภาครัฐ โค้งท้ายปีงบ65 พบเหลือ 1.67 แสนล้านบาท พร้อมอัดฉีดก่อน 30 ก.ย. หวังกระตุ้นจีดีพีครึ่งปีหลังโตให้ได้ไม่น้อยกว่า 4% เพื่อให้ทั้งปี โตตามเป้าหมาย 3.5% แนะรัฐออกมาตรการดูแลค่าครองชีพ กลุ่มเปราะบาง หวั่นกัดกินกำลังซื้อในประเทศ

เข้าสู่ช่วงโค้งท้ายปี 2565 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประกาศออกมาพบว่า จีดีพีไตรมาส 2/65  ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/65 ที่ขยายตัว 2.2% ส่งผลให้ครึ่งแรกปี 65 จีดีพีไทยขยายตัวได้ 2.4%

 

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้ สศช.ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยแคบลงเหลือขยายตัว 2.7-3.2%  เดิมที่ 2.5-3.5% โดยที่ค่ากลางยังคงเดิมที่ 3.0% ซึ่งหากจะทำให้ได้ตามเป้าหมาย นั่นหมายถึงครึ่งหลังปี 65 จะต้องดูแลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ไม่น้อยกว่า 4%

หนึ่งในกลไกสำคัญคือ การอัดฉีดเงินเม็ดเงินจากรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงตุลาคมจะมีเม็ดเงิน 21,200 ล้านบาทจากโครงการ คนละครึ่งเฟส5 และอีก 4,000 ล้านบาท จากโครงการ เราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนต่อขยาย

ก๊อกสุดท้าย 1.67 แสนล้าน โด๊ป GDP ขยายตัว 3.5 %

  • รัฐเหลืองบ1.67แสนล้าน

หากพิจารณาช่วงโค้งท้ายของปีงบประมาณ 2565 พบว่า ภายใต้กรอบรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาทนั้น มีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว 2.72 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 87.79% ยังเหลือวงเงิน 378,561 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ มีงบลงทุนที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีก 139,028 ล้านบาท และงบเหลื่อมปีที่กันไว้อีก 1,467 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 พบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแล้ว 2,530 โครงการ วงเงินรวม 473,235 ล้านบาท คิดเป็น 94.65% ของเงินกู้ 5 แสนล้านบาท จึงเหลือวงเงิน 26,765 ล้านบาทเท่านั้น

 

ดังนั้น หากนับรวมวงเงินที่รัฐบาลสามารถอนุมัติ เพื่อนำมาใช้ในการอัดฉีดเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเหลือเพียง 167,260 ล้านบาท ที่จะต้องเบิกใช้ภายในวันที่ 30 กันายน 2565 โดยเป็นงบลงทุน 139,028 ล้านบาท งบเหลื่อมปี 1,467 ล้านบาทและงบเงินกู้ 26,765 ล้านบาท ช่วงไตรมาสสุดท้ายต้องรอเม็ดเงินจากงบประมาณ 66 เข้ามาสมทบเพิ่มเติม

 

  • เร่งเบิกจ่ายหนุนจีดีพี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งส่วนกลางและส่วนจังหวัด รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย ให้เร่งรัดการดำเนินงาน ก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 เพื่อให้ภาพรวมการเบิกจ่ายงบได้ถึง 93% ของวงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท โดยรายจ่ายประจำต้องเบิกจ่ายให้ได้ 98% และงบลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ 75% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของตัวเลขเศษฐกิจไทยปี 65 ให้ขยายตัวได้ 3.5%

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจไทยและเชื่อว่าทั้งปีจีดีพีจะขยายตัว 3.5% หลังจากเห็นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีโตถึง 3.5% ช่วงครึ่งปีหลัง ตัวเลขเศรษฐกิจจะต้องขยายตัวได้ประมาณ 4.6% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนและจีน-ไต้หวันที่อาจกระทบต่อซัพพลายเซนและราคาน้ำมันให้ปรับขึ้นสูงขึ้นและกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้

 

  • ปั้นจีดีพีครึ่งปีหลัง4%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ต่างชาติเริ่มมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นจริง จึงมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท สะท้อนจากเงินบาทที่มีความผันผวนและแข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้าที่อ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เล็กน่อย ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบการส่งออกได้ ขณะที่ในต่างประเทศยังมีความผันผวนเศรษฐกิจโลกชะลอ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ภาพรวมช่วงที่เหลือของปี ทุกตลาดยังมีความผันผวนสูงเช่นกัน หลักๆ มาจากการคาดการณ์ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และราคาน้ำมันโลก แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง จึงย่อมจะกดดันต่อต้นทุนที่สูงขึ้น

 

“แม้ว่าสัญญาณดังกล่าวผู้ประกอบการไทยได้รับรู้ในวงกว้างและปรับตัวกันไประดับหนึ่งแล้ว แต่หากไม่เกิดเหตุอะไรรุนแรงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะคลี่คลายลงได้” นายพชรพจน์กล่าว

 

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังจะต้องปั้นตัวเลขจีดีพีให้ขยายตัวอย่างน้อย 4.0% เพื่อผลักดันให้ทั้งปีเติบโตตามเป้าที่ระดับ 3.2% จากครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 2.4% โดย Krungthai COMPASS ได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เพิ่มจากเดิม 3.0% เป็น 3.2% พร้อมขยับประมาณการส่งออกจากเดิม 6.5% เป็น 7.5% เพราะยังเห็นไม่ชัดว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งต้องใช้เวลาดูอีก 1-2 เดือน น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น ตอนนี้จึงมองโอกาสจะส่งออกได้ 7.5-8% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี น่าจะอยู่ที่ 8.1 ล้านคน

 

  • แนะรัฐดูแลกลุ่มเปราะบาง

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธนาคาร ทหารไทยธนชาต(ttb Analytics) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มจีดีพีไทยสิ้นปีคาดว่า จะขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากทิศทางการค้าโลกในช่วงที่เหลือไม่เอื้อต่อการส่งออก จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐเองตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ขณะที่ตลาดจีนเองยังมีความเสี่ยงจากโควิดเป็นศูนย์

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธนาคาร ทหารไทยธนชาต

ขณะที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของไทยแม้จะบวก 2.5% แต่ก็ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และหากพิจารณาจากไส้ในจะเห็นการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เริ่มชะลอเหลือ 4.6% จาก 2 ไตรมาสก่อนหน้าที่ยังเห็นตัวเลขขยายตัว 2 หลัก ส่วนการบริโภคแม้จะโตได้เกือบ 7% แต่จะเติบโตต่อเนื่องหรือไม่ เพราะราคาค่าครองชีพยังคงกัดกินกำลังซื้อต่อไป จากราคาก๊าซตลาดโลกยังสูง แม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงขณะที่การนำเข้ายังเติบโตกว่า 7.1% สะท้อนทิศทางการค้าในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย แต่ยังมีภาระการนำเข้าพลังงาน

 

 “ปัจจัยเหล่านี้แม้จะไม่ถึงกับฉุดจีดีพีของไทย แต่ก็ทำให้จีดีพีไม่โตเท่าที่ควรจะเป็น แม้การส่งออกภาคบริการหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศเติบโตขึ้นมา 54% หากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 100% เท่ากับเวลานี้กลับขึ้นมาแล้ว 70% ยังมีช่องว่างอีก 30% ช่วงที่เหลือภาพรวมยังต้องลุ้นการท่องเที่ยวจะรับไม้ต่อจากการส่งออกชะลอลงได้หรือไม่”นายนริศกล่าว

 

ในแง่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ยังจำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับผู้ทำนโยบายในภาวะที่ภาระค่าครองชีพยังสูง แม้เงินเฟ้อ/ราคาน้ำมันปรับลดบ้าง แต่ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าสหุงต้มยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นจะต้องช่วยดูแลกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ 2 กลุ่มที่ต้องระวังคือ กลุ่มรายได้ระดับกลาง-ล่างที่รายได้ยังไม่ฟื้นและมีภาระผ่อนชำระหนี้ และเอสเอ็มอีที่ใช้สินเชื่อหมุนเวียนดอกเบี้ยอัตราลอยตัว

 

“ไม่ว่าประชาชน หรือภาคธุรกิจรายย่อยและเอสเอ็มอี ที่ใช้วงเงินหมุนเวียน ดอกเบี้ยอัตราลอยตัว จะมีภาระเพิ่มขึ้นจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น”นายนริศกล่าว

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธนาคารกรุงเทพมองกรอบจีดีพีทั้งปีนี้ เติบโตที่ 3-4% หรือค่ากลาง 3% หัวใจหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาสนับสนุน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในช่วงที่เหลือ 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 

ส่วนปัจจัยหนุนทั้งภาคการบริโภคและภาคการส่งออกยังคงเดินหน้าพร้อมทั้งโครงการลงทุนต่างๆ แต่ปัจจัยจากภาครัฐน่า จะเป็นการประคองตัวมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายภาครัฐไปก่อนหน้าแล้ว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565