ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า"ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์

16 ส.ค. 2565 | 01:11 น.

ค่าเงินบาทผันผวน"อ่อนค่า"ทดสอบโซนแนวต้านที่ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์-ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในฝั่งสินทรัพย์ EM Asia

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.56 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน   ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้แถว 35.60 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปแถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดกังวลแนวโน้มการชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจจีน รวมถึงเศรษฐกิจหลักอื่นๆ

 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอไว้ด้วยโฟลว์ธุรกรรมซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ และอาจรวมถึงโฟลว์ซื้อบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติที่อาจรอจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินบาทเพื่อเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาท

 

ทั้งนี้ เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในฝั่งสินทรัพย์ EM Asia และอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ หลังจากที่ตลาดเริ่มกลับมากังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่เริ่มส่งผลให้มีการทยอยใช้มาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ (ส่วนใหญ่ยังเป็นเมืองที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยอยู่)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์

 

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงหนักได้กดดันให้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนและปิดรับความเสี่ยงในช่วงแรก ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากความหวังว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (โอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ลดลงเหลือ 39% จาก CME FedWatch Tool ) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนีภาคการผลิตที่จัดทำโดยเฟดนิวยอร์ก (Empire State Manufacturing Index) ในเดือนสิงหาคม ปรับตัวลดลงหนักกว่าคาด สะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากขึ้น แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ก็ยังคงหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด +0.62% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้นราว +0.40%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงปรับตัวขึ้นราว +0.34% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.3%, Adyen +0.9%แต่ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันโดยความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง TotalEnergies -2.4%, Equinor -1.7%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจจีน รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยอยู่ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 2.89% สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่คาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะคอยหาจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ ในการทยอยสะสมสถานะการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ตามธีมยีลด์เคิร์ฟชันน้อยลง (Curve Flattening) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงธนาคารกลางเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จนแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มชะลอลง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้น สู่ระดับ 106.5 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงบ้าง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับแถวระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ของเยอรมนี ในเดือนสิงหาคม ซึ่งตลาดมองว่า บรรดานักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักวิเคราะห์ อาจยังคงมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงที่อาจเกิดวิกฤติพลังงาน หากรัสเซียยุติการส่งออกแก๊สธรรมชาติ ซึ่งมุมมองดังกล่าวจะสะท้อนผ่านการปรับตัวลดลงของดัชนี ZEW สู่ระดับ -53.8 จุด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.30 น.) เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทในระหว่างวันอาจเป็นไปในกรอบจำกัด

 

ขณะที่ sentiment ภาพรวมสกุลเงินเอเชียยังอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวนที่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ซึ่งทำให้ทางการจีนอาจต้องกระตุ้นด้วยมาตรการเพิ่มเติม นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก่อนการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.40-35.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การขออนุญาตก่อสร้าง และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.