ผอ.อสมท.ประกาศลาออกจากตำแหน่ง มีผล 1 ก.ย.65

12 ส.ค. 2565 | 04:39 น.

บอร์ดอสมท.ไฟเขียว “เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์” ลาออกจากตำแหน่ง ผอ.อสมท. เหตุปัญหาสุขภาพ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565

บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT  ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า จากการประชุมคณะกรรมการ บมจ.อสมท ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565  มีมติรับทราบ การขอลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ของรองศาสตราจารย์เกษมศานต์  โชติชาครพันธุ์  เนื่องจากปัญหาสุขภาพ  โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 

ผอ.อสมท.ประกาศลาออกจากตำแหน่ง มีผล 1 ก.ย.65

ทั้งนี้  การลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ รองศาสตราจารย์เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของ บมจ.อสมท แต่อย่างใด  โดย บมจ.อสมท จะเร่งดำเนินการ     สรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ต่อไป 

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์  ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่  แทนนายเขมทัตต์ พลเดช

 

ขณะที่ล่าสุด อสมท.ประกาศผลการดำเนินงาน ไตรมาส 2 ปี 2565 มีรายได้รวม จำนวน 354 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การดำเนินงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โดยขาดทุนสำหรับงวด จำนวน 11 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 74%

ทั้งนี้ ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน สร้างรายได้สูงสุดให้กับ บมจ. อสมท ในไตรมาสนี้ มีรายได้เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากมีผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ เพิ่มขึ้น คือ T Sports 7 ช่อง หมายเลข 7 โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ประเทศด้านการท่องเที่ยวและกีฬา

 

ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจใหม่ รายได้เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากส่วนแบ่งรายได้โฆษณาผ่าน Social Platform (YouTube และ Facebook) ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนรายได้จากการเป็นผู้จัดจำหน่าย content ในแพลตฟอร์มอื่นทั้งในและต่างประเทศ (Content Business) และรายได้จากการขายสินค้า (Shop Mania) ตลอดจนรายได้จากการให้เช่าใช้ทรัพย์สิน (ห้องสตูดิโอและห้องควบคุมออกอากาศ)

 

ส่วนธุรกิจโทรทัศน์ และ ธุรกิจวิทยุ มีรายได้ลดลงตามสถานการณ์ตลาด ที่มีการใช้เม็ดเงินในสื่อดั้งเดิมลดลง เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 โดยงบโฆษณาของทั้งอุตสาหกรรมโทรทัศน์ลดลง 1% ส่วนวิทยุลดลง  0.1%